ทัวร์อียิปต์

ทัวร์อียิปต์ : วิหารแห่งคานัค Temple of Karnak

ทัวร์อียิปต์ : วิหารแห่งคานัค Temple of Karnak

หรือเรียกอีกอย่างว่า อัล-คานัค ซึ่งคำว่า “คานัค” มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับ มีความหมายว่า หมู่บ้านป้อมปราการ ตั้งอยู่ใกล้เมืองลักซอร์ ประเทศอียิปต์ เป็นซากกลุ่มวิหารในเมืองธีบส์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก้ ในปี ค.ศ. 1979 โดยรวมกับซากของวิหารใหญ่แห่งองค์เทพอามุน พื้นที่โบราณส่วนอื่น ๆ ของเมืองธีบส์ เมืองลักซอร์ หุบเขาแห่งกษัตริย์ และหุบเขาแห่งราชินี
การขุดค้นในศตวรรษที่ 20 ทำให้ประวัติศาสนของวิหารแห่งนี้ย้อนกลับไปสู่ยุค “เกอร์ซีน Gerzean” (ราว 3,400-3,100 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคหินใหม่สู่ยุคสำริดของอียิปต์ตอนบน ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการเกษตร การค้าระหว่างประเทศ และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ) มีการตั้งถิ่นฐานขนาดเล็กบนฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำไนล์
วิหารแห่งคานัค เป็นกลุ่มวิหารใหญ่ทางตอนเหนือของเมืองธีบส์ เป็นศูนย์กลางทางศาสนาหลักขององค์เทพอามุน-เร ในเมืองธีบส์ ช่วงอาณาจักรใหม่ (ประมาณ 1,550-1,070 ปีก่อนคริสตกาล) กลุ่มวิหารแห่งนี้ยังคงเป็นหนึ่งในกลุ่มวิหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ไอเป็ต-ไอซุต Ipet-Isut “สถานที่ดีที่สุดที่ได้รับการคัดสรร”

สถานที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในช่วง อาณาจักกลาง (ประมาณ 2,055-1,650 ปีก่อนคริสตกาล) ในช่วงแรกมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่เมื่อเมือธีบส์มีความสำคัญมากขึ้น ฟาโรห์องค์ต่อๆ มาวางหมุดหมายมาไว้ที่คานัค เป็นอาณาบริเวณศักดิ์สิทธิ์เพียงแห่งเดียว ที่มีวิหารและวิหารน้อยมากถึง 20 แห่ง และที่รู้จักในสมัยโบราณว่าเป็น “สถานที่เดียวบนโลกที่องค์เทพเลือกที่จะสถิตอยู่” ซึ่งเรียกว่า ไอเป็ต-ไอซุต Ipet-Isut โดยมีชุมชนนักบวชอาศัยอยู่ในพื้นที่ มีโรงครัว โรงผลิตอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางศาสนา และทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์
วิหารใหญ่แห่งเทพอามุน-เร แบ่งเป็นฝั่งเหนือและฝั่งใต้ กับส่วนตะวันออกและตะวันตกที่ขยายออก ฝั่งใต้มีทางเดินเชื่อมไปยังวิหารแห่งลักซอร์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ริมแม่น้ำไนล์ โดยตลอดทาง 2.3 กม. มีสฟิงซ์หัวแกะหมอบเรียงกันทั้งฝั่งซ้ายและขวา
แม้ว่าหินที่ใช้ก่อสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะถูกปล้นไปในสมัยโบราณ แต่ก็มีคุณลักษณะทางสถาปัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์หลายอย่างภายในอาคารขนาดใหญ่แห่งนี้ เช่น เสาโอเบลิสก์ที่สูงที่สุดในอียิปต์ ตั้งอยู่ในที่คานัคแห่งนี้ และอุทิศถวายแด่ฟาโรห์หญิง ฮัตเซปซุต ผู้ปกครองอียิปต์ในช่วงอาณาจักรใหม่ ซึ่งสร้างจากหินแกรนิตสีแดงชิ้นเดียว เดิมเป็นเสาโอเบลิสก์คู่แต่ถูกจักรพรรดิคอนสแตนตินถอดออกและเอาไปตั้งไว้ที่กรุงโรม นอกจากนี้ยังมีเสาของวิหารเทศการของฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 ที่มีลักษณะผิดแปลกกว่าปกติ มีลักษณะเป็นเสากระโจมซึ่งเชื่อว่าเป็นลักษณะที่ฟาโรห์องค์นี้คุ้นเคยจากการรบในสงครามหลายครั้ง

โถงไฮโปสไตล์ Hypostyle Hall

โถงไฮโปสไตล์ (พื้นที่ที่มีหลังคารองรับด้วยเสาหินขนาดใหญ่) เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ของคานัค สร้างขึ้นในสมัยฟาโรห์ราชวงศ์รามเสส ห้องโถงดังกล่าวมีเสาหินขนาดใหญ่ 134 ต้น ตรงกลางมีเสา 12 ต้น สูง 21 ม. เช่นเดียวกับการตกแต่งวิหารส่วนใหญ่ ห้องโถงนี้จะถูกทาสีให้สว่าง และสีบางส่วนยังคงมีอยู่ที่ส่วนบนของเสาและเพดานจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความที่ศูนย์กลางของห้องโถงนี้ สูงกว่าช่องว่าด้านใดๆ ชาวอียิปต์จึงออกแบบให้ส่วน คลีร์สตอรี่ clerestory ผนังส่วนบนของโถงเจาะเป็นช่องแสง ลอดผ่านส่องไปยังทางเดินกลางของวิหาร เพื่อให้เกิดความสว่างและเป็นการถ่ายเทอากาศด้วย จากหลักฐานแรกสุดเชื่อว่าการจัดแสงแบบคลีร์สตอรี่ของอียิปต์ เป็นต้นแบบการทำช่องแสงของมหาวิหารโรมันในสไตล์โรมาเนสก์และกอธิค ซึ่งโถงไฮโปสไตล์ของวิหารหลังแห่งองค์เทพอามุน-เรนี้ มีชาวอียิปต์โบราณสามารถเข้าได้อย่างจำกัด เนื่องจากยิ่งมีคนเข้าไปวิหารมากเท่าไร การเข้าถึงก็ยิ่งถูกจำกัดมากขึ้นเท่านั้น

วิหารเป็นดั่งจักรวาล Temple as Cosmos

เซปเตปี Zeptepi ซึ่งเป็นแนวคิดและตำนานการสร้างโลกของชาวอียิปต์โบราณ ซึ่งวิหารแห่งนี้สะท้อนภาพของช่วงเวลาของการกำเนิดโลก เมื่อเนินดินโผล่ขึ้นเหนือผืนน้ำ (ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์) ในยุคดึกดำบรรพ์ เสาวิหารหรือประตูเป็นตัวแทนของเส้นขอบฟ้า เมื่อเดินเข้าไปในวิหาร พื้นจะสูงขึ้นจนไปถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ขององค์เทพเจ้า หลังคาวิหารไฮโปสไตล์เป็นตัวแทนของท้องฟ้า และมักประดับด้วยดวงดาวและนก เสาคอลัมน์ของอาคารออกแบบเป็นดอกบัว ต้นปาปิรุส และต้นปาล์ม ซึ่งสะท้อนบรรยากาศของบึงแห่งการสร้างสรรค์ พื้นที่รอบนอกของคาร์นัคซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำไนล์จะถูกน้ำท่วมประจำทุกปี เป็นเจตนาของนักออกแบบในสมัยโบราณเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวิหาร

วิหารแห่งเทพเจ้าสามองค์ Temple of Triad

กลุ่มวิหารแห่งนี้ไม่ได้เป็นวิหารที่สร้างถวายแด่องค์เทพอาเมน-เร เพียงองค์เดียว แต่เป็นกลุ่มวิหารสักการะเทพเจ้าสามองค์ของชาวเมืองธีบส์ หรือ ไทรแอด Triad หรือ Theban Triad โดยยังเป็นที่ตั้งของวิหารเทพเจ้าอีก 2 องค์ คือ เทพีมุต Mut (ชายาของเทพอามุน) และ คอนซู Khonsu (โอรสของเทพทั้งสอง) นอกจากนี้ยังมี วิหารแห่งมอนทู Temple of Montu ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม ศูนย์รวมพลังแห่งชัยชนะของฟาโรห์ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานรากเล็กน้อย โดยวิหารที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของวิหารแห่งเทพเจ้าอามุน Temple of Amun
หากเทียบกับวิหารอื่นๆ ที่หลงเหลือมาจากอียิปต์โบราณ กลุ่มวิหารแห่งคาร์นัคอยู่ในสภาพที่ได้รับการอนุรักษ์ไม่ดีนัก แต่ยังคงให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับศาสนาและศิลปะอียิปต์แก่เหล่านักวิชาการ

ซุ้มฟาโรห์ตาหราฆา The Kiosk of Tahraqa

ฟาโรห์ตาหราฆา เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่ของราชวงศ์ที่ 25 (ครองราชยระหว่าง 690-664 ปีก่อนคริสตกาล) และเป็นกษัตริย์ชาวคุช Kush people ตั้งอยู่ตอนเหนือของประเทศซูดานในปัจจุบัน ซุ้มอาคารประกอบไปด้วยเสาทรงต้นปาปิรุสสูง 21 ม. 10 ต้น เชื่อมด้วยกำแพงเตี้ยๆ ปัจจุบันเหลือเสาเพียงต้นเดียวที่ยังคงตั้งอยู่ เชื่อว่าเป็นวิหารสำเภาขององค์เทพ ซึ่งนักไอยคุปต์วิทยาบางคนเชื่อว่าอาจใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอาทิตย์

รูปสลักหินลอยตัวชองฟาโรห์รามเสสที่ 2 Status of Ramses II

เป็นรูปสลักหินของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ในท่ายืนสวมผ้าโพกพระเศียรที่มีมงกุฎคู่ของอียิปต์บนและอียิปต์ล่าง ซึ่งแสดงถึงอำนาจการปกครองเหนือทั้งสองดินแดน แขนไขว้กัน มือข้างหนึ่งถือขอเกี่ยวสัตว์เลี้ยงและอีกข้างถือไม้นวดข้าว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์กษัตริย์ผู้ปกครอง โดยระหว่างขาของพระองค์มีรูปสลักของเจ้าหญิงเบนตานาต Bent’anta Princess ในภาษาซีเรีย แปลว่า ลูกสาวของ “อนาต Anath” ก็คือ เทพีอนาธ Anath goddess ซึ่งเป็นชาวคะนาอัน โดยมี พระมารดาชื่อ “ไอเซตโนเฟรต Isetnofret” หนึ่งในพระชายาสำคัญที่สุดของฟาโรห์รามเสสที่ 2

เสาประตูทางเข้าแรก The 1st Pylon

แม้จะเป็นแนวเสาตกแต่งประตูทางเข้าแรก แต่ก็เป็นแนวเสาทางเข้าชุดสุดท้าย ที่สร้างขึ้นในกลุ่มวิหารแห่งคาร์นัค เป็นแนวเสาทางเข้าขนาดใหญ่ก่อนเข้าสู่วิหารแห่งองค์เทพอามุน-เร เป็นเสาที่สร้างไม่เสร็จและไม่มีการตกแต่งใดๆ โดยเสาทิศเหนือสูง 21.70 ม. และทิศใต้สูง 31.65 ม. ซึ่งถ้าเสร็จจะสูง 38-40 ม. สร้างขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์เนคตาเนโบ (ครองราชย์ระหว่าง 379-362 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นผู้สร้างกำแพงล้อมรอบวิหารแห่งคาร์นัค สองฟากทางเดินด้านหน้าเสาเป็นสฟิงซ์ที่มีหัวแกะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์เทพอามุน และรูปสลักจำลองของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ในรูปขององค์เทพโอซิริสยืนอยู่ระหว่างอุ้งเท้าหน้า โดยส่วน

เสาประตูทางเข้าที่ 2 The 2nd Pylon

ก่อนที่จะถึงลานโชเชนฆ์ มีแนวเสาตกแต่งหน้าทางเข้าอาคารกลุ่มที่ 2 รูปทรงต้นปาปิรุสขนาดใหญ่ สร้างขึ้นโดยฟาโรห์โฮเรมเฮบ แห่งราชวงศ์ที่ 18 (ครองราชย์ระหว่าง 1323-1295 ปีก่อนคริสตกาล) ตกแต่งเข้าไปในวิหารพร้อมกับหินตัดนับพันก้อน จากทำลายอนุสาวรีย์ของฟาโรห์อเคนาเตนนอกรีต แต่ยังไม่ทันเสร็จพระองค์ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน และมาสร้างเสร็จในรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 1 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ที่ 19 (สืบการปกครองต่อจากฟาโรห์โฮเรมเฮบ เนื่องจากไม่มีโอรสสืบสันตติวงศ์) โดยตกแต่งด้วยรูปสลักและภาพเขียนของพระองค์แทนที่ภาพเขียนของฟาโรห์โฮเรมเฮป ปัจจุบันเสาไพล่อนได้รับความเสียหายอย่างหนัก และไม่ทราบความสูงเดิมของเสาต้นนี้

วิหารสำเภาของฟาโรห์รามเสสที่ 3 Chapel for the barques of Kanak

เป็นวิหารน้อยที่สร้างขึ้นในรัชสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง 1184-1153 ปี ก่อนคริสตกาล ทางตอนใต้ของเสาไพล่อนที่ 2 ซึ่งต่อมาถูกล้อมรอบด้วยลานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์โชเชงฆ์ที่ 1 แห่งราชวงศ์ที่ 22 (ครองราชย์ระหว่าง 943-922 ปีก่อนคริสตกาล) โดยทางเข้าวิหารน้อยจะมีเสาเล็กๆ ประดับด้วยภาพสลักขององค์ฟาโรห์ฟาดฟันศัตรู และรูปสลักหินสูง 6 เมตร ที่แกะสลักจากหินทรายแดงขนาบสองข้างทางเข้าประตู
ภายในวิหารน้อยชั้นแรกเป็นรูปสลักครึ่งตัวของฟาโรห์ฮัตเซปซุสในรูปฟอร์มขององค์เทพโอซิริส ตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันตกโดยสวมมงกุฎสีแดงประจำทิศใต้ ส่วนฝั่งทิศตะวันออกสวมมงกุฎสีขาวประจำทิศเหนือ
ถัดจากวิหารน้อยจะเป็นห้องโถง ที่ด้านหน้ามีเสาโอซิไรด์ (เสาสลักรูปเทพโอซิริสยืนไขว้แขน) นำไปสู่ห้องโถงไฮโปสไตล์เล็กๆ ที่นำไปยังวิหารน้อยสามหลังของสำเภาแห่งคาร์นัค

ศาลาเทศกาลของฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 Festival hall of Thutmose III

ศาลาที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “อนุสาวรีย์ที่งดงามที่สุด” เดิมประตูทางเข้าขนาบด้วยรูปสลักของฟาโรห์ 2 พระองค์ในชุดฉลองเทศกาล มีหลังคารองรับด้านนอกด้วยเสาสี่เหลี่ยม 32 ต้น ภายในศาลารองรับด้วยเสาแบบเสาเต็นท์ ซึ่งเป็นเต็นท์ทหารของฟาโรห์ทรงใช้ระหว่างออกศึกสงคราม
สุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นบันไดที่นำไปสู่ห้องที่เรียกว่า “โถงแห่งเคลปซิดรา Chamber of the Clepsydras” ซึ่งที่ตั้งของนาฬิกาน้ำที่ทำจากภาชนะหินที่มีรูเล็กๆ ที่ก้น โดยน้ำจะหยดในอัตราคงที่ ซึ่งสามารถวัดระยะเวลาได้จากเครื่องหมายที่มีระยะห่างในระดับต่างๆ นักบวชในวิหารแห่งคานัคจะใช้กำหนดเวลาที่ถูกต้องสำหรับการดำเนินพิธีการทางศาสนาในตอนกลางคืน

ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์แห่งคาร์นัค Karnak Temple Sacred Lake

เป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดโดยฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง 1473-1458 ปี ก่อนคริสตกาล) มีขนาด กว้าง 70 ม. ยาว 120 ม. ขอบทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์เรียงด้วยกำแพงหินและมีบันไดลงไปในน้ำ โดยนักบวชใช้น้ำสำหรับการล้างพิธีกรรมและนำทางพิธีกรรม และทะเลสาบแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของห่านศักดิ์สิทธิ์แห่งอามุน (ห่านเป็นสัญลักษณ์หนึ่งขององค์เทพอามุน) และเป็นสัญลักษณ์ของน่านน้ำยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตในแนวคิดการสร้างโลกของชาวอียิปต์โบราณ ทะเลสาบแห่งนี้ล้อมรอบด้วยห้องเก็บเครื่องใช้และที่พักของเหล่านักบวช และมีกรงสำหรับสำหรับใส่นกน้ำด้วย

เสาไพล่อนแห่งฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 The Pylon of Thutmose III

บริเวณเสาไพล่อนที่เจ็ด มีผนังภาพสลักของฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 ทรงสวมมงกุฎสีแดงกำลังฟาดฟันศัตรูด้วยไม้กระบอง นอกจากนี้ยังมีรายชื่อเมืองปาเลสไตน์ 119 เมืองที่ถูกยึดครองจากการทำสงครามครั้งแรก และอีก 240 เมืองที่ตั้งระหว่างเลบานอนกับแม่น้ำยูเฟรตีส ซึ่งพระองค์พิชิตได้ในปีที่ 33 แห่งรัชกาล ระหว่างการทำสงครามครั้งที่แปด ซึ่งน่าเสียดายพื้นที่ขนาดใหญ่สองจุดใหญ่หน้าเสาไพล่อนได้พังทลายไปแล้ว แต่รูปสลักเหล่านี้ถูกแกะสลักจากหินแกรนิตสีแดงอัสวานแข็ง ขณะส่วนอื่นๆยังคงสภาพดีอยู่
ลานหลังเสาไพล่อนที่เจ็ด ซึ่งเรียกว่า “ลานแห่งคาเชตต์ Courtyard of the Cachette” เนื่องจากเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 มีการค้นพบรูปสลักและแผ่นศิลา 20,000 ชิ้นถูกฝังอยู่บริเวรนี้ ซึ่งเป็นการคันพบรูปสลักที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอียิปต์
นักไอยคุปต์เชื่อว่าวัตถุโบราณเหล่านี้ เป็นเครื่องบูชาแก้บนที่ผู้ศรัทธานำมาบูชาในวิหาร เมื่อเวลาผ่านไป ของสะสมมีจำนวนมากขึ้นและรก นักบวชไม่สามารถนำวัตถุศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวออกไปจากบริเวณได้ จึงต้องฝังไว้เพื่อเคลียร์พื้นที่บางส่วน
ก่อนถึงเสาที่แปด เก้า ที่อยู่ถัดไป และสิบซึ่งเสาสุดท้ายของวิหารแห่งคาร์นัค ซึ่งฟาโรห์โฮเรมเฮบเป็นผู้สร้าง โดยนำก้อนหินที่รื้อมาจากวิหารที่สร้างโดยฟาโรห์อาเคนาเตน

วิหารแห่งองค์เทพคอนซู Temple of Khonsu

เทพเจ้าคอนซู เป็นองค์เทพแห่งดวงจันทร์ เป็นโอรสขององค์เทพอามุนกับเทพีมุต เป็นหนึ่งใน “ตรีเทพของชาวธีบส์ Theban Triad” มีเศียรเป็นหัวเยี่ยวสวมรัดเกล้าเป็นพระจันทร์เสี้ยวรองจานพระจันทร์เต็มดวง เช่นเดียวกับ องค์เทพโธธ Thoth ซึ่งเป็นองค์เทพแห่งดวงจันทร์เช่นเดียวกัน
เชื่อกันว่าองค์เทพคอนซูมีความสามารถขับไล่วิญญาณชั่วร้ายได้ ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ได้พระราชทานรูปสลักขององค์เทพคอนซู แด่กษัตริย์ซีเรียสำหรับมิตรภาพและพระชายาที่เป็นพระธิดาของพระองค์เพื่อรักษาที่กำลังเจ็บป่วย
วิหารแห่งคอนซู ตั้งอยู่บริเวณขอบฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ในอาณาเขตของกลุ่มวิหารแห่งคาร์นัค สร้างขึ้นโดยฟาโรห์รามเสสที่ 3 ประกอบไปด้วยลานรอบนอกวิหาร ที่ล้อมรอบด้วยระเบียบที่มีเสา 28 ต้น นอกจากนี้ยังมีโถงไฮไปสไตล์ที่เชื่อมกับวิหารสำเภาศักดิ์สิทธิ์กับวิหารน้อยที่เปิดไปด้านซ้ายและขวา และบันไดที่นำไปยังหลังคา เสาไพล่อนทั้งหมด สูง 18 ม. ยาวตลอดแนว 34.5 ม. ด้านหน้าของเสาไพล่อนเป็นซากปรักหักพังของแนวระเบียงเสามีแถวของสฟิงซ์ล้อมรอบ

Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า