ทัวร์ราชาสถาน : 6 นคร 2 เมืองสำคัญ อัญมณีแห่งราชาสถาน

ทัวร์ราชาสถาน

ทัวร์ราชาสถาน : 6 นคร 2 เมืองสำคัญ อัญมณีแห่งราชาสถาน

ราชาสถาน หรือ ราจัสทาน ตามสำเนียงของคนอินเดียเป็นรัฐที่ได้ชื่อว่ามีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดอับดับเจ็ดของประเทศอินเดียวด้วยเช่นกัน ราชาสถานตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของดินแดนอนุทวีปอินเดีย มีทะเลทรายธาร์ ซึ่งเป็นทะเลทรายที่กว้างใหญ่ที่สุดของอินเดีย โดยพื้นที่กว่าร้อยละ 70 อยู่ประเทศอินเดียและอีกร้อยละ 30 อยู่จังหวัดปัญจาบของประเทศปากีสถาน

ราชาสถานเป็นดินแดนที่ร่ำรวยอารยธรรมย้อนรอยความเกี่ยวข้องกับอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ อย่างวัฒนธรรมฮารัปปาตอนต้น (Early Harappan Culture) เมื่อราว 2,500-1750 ปีก่อนคริสตกาล ที่เมืองกาลิบังกันและบาลาธัล ไป และยังคงเป็นแหล่งวัฒธรรมที่เต็มไปด้วยประเพณีทางศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านที่หลากหลาย สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน
ทำให้รัฐราชาสถานเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวดีที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย 

จัยปูร์ Jaipur “นครสีชมพู Pink City”

          จัยปูร์ หรือ ชัยปุระ เป็นที่รู้จักในนาม “นครสีชมพู” เป็นเมืองเอกและเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐราชาสถาน ที่ผสมผสานเสน่ห์ของประวัติศาสตร์โบราณเข้ากับวิถีชีวิตของชาวอินเดียท้องถิ่นได้อย่างลงตัว ท่ามกลางความทันสมัยของอินเดียยุคใหม่ เป็นนครหนึ่งในสามภายในสามเหลี่ยมทองคำทางประวัติศาสตร์ ที่หมายถึง กรุงเดลีฮ์ เมืองอักรา และนครชัยปุระ

          ชัยปุระเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวสำคัญของอินเดีย เต็มไปด้วยสถานที่และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมากมาย เช่น ป้อมอาเมร์ (Amer Fort) หรือ ป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort) ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยมหาราชาไสว มาน ซิงห์ เป็นตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมราชปุต และบางส่วนก็มีผสมผสานกับสถาปัตยกรรมมูฆัลด้วยเช่นกัน โดยสร้างส่วนใหญ่ก่อสร้างขึ้นจากหินทรายแดงและตกแต่งด้วยหินอ่อน จันตาร์ มันตาร์ (Jantar Mantar) หอดาราศาสตร์และนาฬิกาแดดที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นในรัชสมัยมหาราชา ไสว จัย ซิงห์ ที่ 2 แห่งราชตระกูลราชปุต เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1734

          จัยปูร์เป็นเมืองโบราณที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์มากมายทั้ง ป้อมปราสาท พระราชวัง เทวสถาน วัดอาราม และอุทยานหลวง ไม่ว่าจะเป็น ซิตี้ พาเลส (City Palace) พระราชวังและศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่ที่มหาราชาไสว จัย ซิงห์ที่ 2 ทรงย้ายมาจากป้อมพระราชวังแอมเบอร์ในปี ค.ศ. 1727 ภายในมีพระที่นั่ง พระตำหนัก พระราชอุทยาน วัดโกวินฑ์เทพจีที่ถวายแด่องค์กฤษณะเทพ และพระคลังสมบัติที่จัดแสดงเครื่องใช้และพระราชยานของมหาราชาองค์ต่าง ๆ เป็นต้น ฮาวา มฮาล (Hawa Mahal) หรือ พระราชวังสายลม สร้างจากหินทรายสีแดงและสีชมพู เป็นส่วนพระตำหนักหญิงที่ตั้งอยู่บริเวณริมพระราชวังซิตี้พาเลส เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์เมื่อมาถึงชัยปุระแล้ว “ห้ามพลาด” เพราะเป็นเสมือนภาพสัญลักษณ์ของนครสีชมพู วัดพีร์ลา มันธีร์ (Birla Mandir Temple) หรือ วัดลักษมี นารายัน สร้างขึ้นด้วยหินอ่อนสีขาวทั้งหลัง เพื่ออุทิศถวายแด่พระแม่ลักษมีและพระวิษณุ หน้าต่างประดับด้วยกระจกสีพรรณนาเรื่องราวต่างๆ ในศาสนาฮินดู และรูปเคารพสลักหินอ่อนของพระแม่ลักษมี พระวิษณุ และพระพิฆเนศ ภายในเทวสถาน รวมถึง พระพุทธเจ้า พระเยซู พระแม่มารีย์ นักบุญเปโตร ขงจื้อ รวมถึงโซคราติส ปราชญ์ของกรีกบริเวณผนังด้านนอกด้วยเช่นเดียวกัน พิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ตฮอลล์ (Albert Hall Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ของรัฐที่เก่าแก่ที่สุดของรัฐราชาสถาน ตัวอาคารมีรูปสถาปัตยกรรมแบบอินโด-ซาราซีนิค ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมฮินดู-โกธิค-มุฆัล โดยชื่อตั้งตามการมาเยือนรัฐราชาสถานของเจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด ปรินซ์แห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารที่ต่อมาได้เป็นกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพวาด จิวเวลรี่ พรม งาช้าน พลอยและหินมีค่า คริสตัล งานประติมากรรมโลหะ รวมถึงเหรียญโบราณต่าง ๆ เช่น เหรียญในสมัยคุปตะ กุษาณะ สุลต่านแห่งเดลีฮ์ มูฆัล และบริติช ราช โดย มัมมี่แห่งไอยคุปต์ ก็เป็นชิ้นงานจัดแสดงหลักของพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน อุทยานหลวงคานัก วรินฑวัน (Kanak Vrindavan Garden) ดำริสร้างโดยมหาราชาไสว จัย ซิงห์ เมื่อ 275 ปีมาแล้ว เป็นส่วนต่อขยายจากพระราชวังแอมเบอร์ โดยสร้างบริเวณหุบเขาที่สวยงามเขียวขจี ห้อมล้อมด้วยเนินเขาอราวัลลี่ ให้ความรู้สึกคล้ายกับ “วรินฑวัน” อุทยานที่พระกฤษณะทรงประทับอยู่กับเหล่าพระชายา โดยมีเหล่าราส ลีลาคอยประโคมมโหรีและร่ายรำให้พระองค์เพลิดเพลินตามที่มีการพรรณนาไว้ในภควัต ปุราณะ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อที่ต่อท้าย โดยอุทยานแห่งนี้ได้รับการจัดสวนด้วยพันธุ์ไม้แปลก ทั้งต้นไม้ใหญ่และลานหญ้า มีศาลาฉัตรีทรงโดมสถาปัตยกรรมมุฆัล ประดับด้วยกระจกและจัลลี (Jalli) ซึ่งเป็นช่องลมเล็กๆ ที่เจาะคล้ายตาข่ายแบบเดียวกับช่องลมของพระราชวังสายลมบนผนังวัดโกวินฑ์ เดวจี ที่มีน้ำพุติดตั้งหลายจุด เป็นต้น นอกจากนี้ชัยปุระยังมีสถานท่องเที่ยวน่าสนใจอื่น ๆ เช่น จัล มฮาล อุทยานรามนิวาส ย่านเมืองเก่าของนครสีชมพู สุสานหลวงของมหาราชาพระองค์ต่าง ๆ เป็นต้น

ราชาสถาน
ราชาสถาน

ทัวร์ราชาสถาน : ฮาวามาฮาล

ทัวร์ราชาสถาน : ประตูทางเข้าพายในซิตี้พาเลส วิจิตรงดงามสวยสะดุดตามาก

อัจเมร์ Ajmer “นครแห่งความคึกคัก The Bustling City”

          อัจเมร์เป็นหนึ่งในนครที่คึกคักที่สุดของรัฐราชาสถาน ตั้งอยู่ห่างจากนครจัยปูร์หรือชัยปุระซึ่งเป็นนครที่ใหญ่ที่สุดของรัฐราชาสถาน ราว 130 กม. และห่างจากเมืองปุชการ์เพียง 14 กม. นครอัจเมร์เดิมมีชื่อว่า อไจยเมรุ (Ajayameru) มีความหมายว่า “เนินเขาที่อยู่ยงคงกระพัน” ภายในนครอัจเมร์รุ่มรวยด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและจริยธรรมของอินเดีย เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างศาสนา ชุมชน วัฒนธรรม ฯลฯ ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและเจริญรุ่งเรืองจนมาถึงปัจจุบัน

          อัจเมร์ก่อตั้งโดย ราชา อไจยปาล เชาฮาน ในศตวรรษที่ 7 และอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์เชาฮานจนถึงศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นผู้สร้าง ป้อมทาราการห์ (Taragarh Fort) ได้ชื่อว่าเป็นป้อมปราการแห่งแรกของอินเดีย แต่หลังจากราชาพริธวิราช เชาฮาน ทรงพ่ายแพ้ของแก่กองทัพสุลต่านโมฮัมเม็ด ฆอรี (Mohammed Ghori) แห่งราชวงศ์ฆูริดจากอัฟกานิสถาน ส่งผลให้การปกครองอัจเมร์ก็ถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นที่ประทับของหลายราชวงศ์ต่อมา จนกระทั่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิมูฆัล และอัจเมร์ก็ได้กลายเป็นเมืองโปรดปรานพิเศษของเหล่าสุลต่านแห่งมุฆัล เนื่องจากเมืองอัจเมร์เป็นที่ตั้งของ อัจเมร์ ชารีฟ ดาร์เกาะห์ (Ajmer Sharif Dargah) ซึ่งเป็นที่ฝังศพของโมอินุดดิน ชิสตี (Moinuddin Chrishti) ปราชญาจารย์นักบุญซูฟีนิกายสุหนี่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่แสวงบุญของทั้งชาวมุสลิมและฮินดูตั้งแต่ยุคกลาง และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของนครอัจเมร์ในปัจจุบัน และในยุคบริติช ราช อัจเมร์เป็นเมืองเดียวในเขตราชปุตนะที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมและขึ้นตรงต่อบริษัทบริติชอินเดียตะวันออก

          สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอื่น ๆ ของนครอัจเมร์ ได้แก่ โซนิจี กี นาสิยาน (Soniji Ki Nasiyan) วัดเชนแห่งอัจเมร์ ที่วิจิตรด้วยงานสถาปัตยกรรมเชน สร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 19 ภายในห้องโถงหลักของวัดถูกขนานนามว่า “เมืองทองคำ” เนื่องจากมีรูปเคารพทางศาสนาสลักไม้ปิดทองหลายชิ้น และภายในห้องยังมีการใช้ทองคำกว่า 1,000 กก. ตกแต่งเป็นภาพจำลองเมืองอโยธยาอีกด้วย ประตูป้อมทาราการห์ (Gate of Taragarh Fort) สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 8 บนเนินเขาสูงชันในเมืองอัจเมร์ โดยกษัตริย์อไจยราชา เชาฮาน ซึ่งเดิมชื่อ อไจยเมรุ เดิร์ก (Ajayameru Durg) เพื่อป้องกันการรุกรานของกองทัพมูฮัมหมัดแห่งฆาซนีจากดินแดนอัฟกาน ต่อมาก็ถูกกองทัพของกษัตริย์พริธวิราชซิโซเดียแห่งราชปุตพิชิตได้สำเร็จและเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมทาราการห์ตามพระนามของ ทาราไบ (Tarabai) พระชายาของพระองค์ และ อฑัย ดิน กา ชนปรา (Adhai Din Ka Jhonpra) เป็นหนึ่งในมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย เป็นตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมแบบอินโด-อิสลามิคยุคต้น ที่มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมฮินดู มุสลิม และเชนเข้าด้วยกัน ดำริสร้างโดยกุปตับ-อุด-ดิน-ไอบาค แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพฆอรี ที่ต่อมาได้กลายเป็นปฐมจักรพรรดิของราชวงศ์สุลต่านแห่งเดลีฮ์ มัสยิดแห่งนี้ก่อสร้างด้วยช่างชาวฮินดูแต่คุมงานโดยนายช่างอัฟกาน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลขององค์การสำรวจทางโบราณคดีแห่งอินเดีย และมัสยิดได้รับการดูแลรักษาให้คงสภาพดั้งเดิมทั้งหมด โดยเฉพาะเสาหินที่แกะสลักอย่างวิจิตร

ทัวร์ราชาสถาน

ทัวร์ราชาสถาน : ป้อมทาราการห์

โจธปูร์ Jodhpur “นครสีฟ้า The Blue City”

โจธปูร์ หรือ โชธปุระ เป็นเมืองใหญ่อับดับสองของรัฐราชาสถาน และเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ชายขอบทะเลทรายธาร์ นครโจธปูร์ก่อตั้งโดย ราว โจธ (Rao Jodha) หัวหน้าราชตระกูลราชปุตสายราธอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1459 ใช้เป็นศูนย์กลางการปกครองของราชอาณาจักรเมวาร์ในอดีต โดยเป็นเมืองหลวงบนเส้นทางการค้าระหว่างเดลีฮ์กับคุชราต โดยสินค้าที่ทำกำไรให้ราชอาณาจักรแห่งนี้อย่างมากมายได้แก่ ฝิ่น ทองแดง ผ้าไหม ไม้จันทน์ อินทผาลัม และสินค้าแลกเปลี่ยนอื่น ๆ แต่แล้วราชอาณาจักรแห่งนี้ก็ถูกกองทัพของจักรพรรดิอัคบัร พิชิตได้และอยู่ภายใต้การปกครองจักรวรรดิมูฆัลโดยดุษฎีในปี ค.ศ. 1583 แม้ในบางช่วงเวลาจะมีการระหองระแหงไม่ลงรอยกันบ้างก็ตาม

 ภายในนครโจธปูร์แห่งนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ป้อมปราการ พระราชวัง พิพิธภัณฑ์ เช่น ป้อมเมหรานการห์ (Mehrangarh Fort) ที่ดูยิ่งใหญ่ให้ทัศนียภาพมุมกว้างแบบ 360 องศาเหนือเนินเขาของนครโจธปูร์ เห็นถนนสีฟ้าของย่านเมืองเก่าถิ่นอาหารพื้นเมือง ของเก่าของโบราณ เสื้อผ้าแบบดั้งเดิม และ “โจธปูรี โมจารี (Jodhpuri Mojari)” รองเท้าแขกแบบดั้งเดิมที่ควรซื้อหาเป็นของที่ระลึกหรือของฝาก  นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อย่าง พระราชวังอุมาอิดภาวัน (Umaid Bhawan Palace) ซึ่งเป็นหนึ่งพระราชฐานส่วนพระองค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งบางส่วนได้กลายเป็นโรงแรมที่บริหารโดยกลุ่มตาจ โฮเทล สุสานหลวงจาสวานท์ ทาดา (Jaswant Thada Cenotaph) สร้างโดยมหาราชา ซาร์ดาร์ ซิงห์ ในปี ค.ศ. 1899 เพื่ออุทิศแด่พระราชบิดาจาสวานท์ ซิงห์ ที่ 2 และใช้เป็นสุสานหลวงของราชตระกูล ภายในได้รับการออกแบบเป็นศาลาหินอ่อนสลักที่วิจิตรงดงาม ท่ามกลางสวนดอกไม้และทะเลสาบเล็ก ๆ สวนมันดอร์ (Mandore Garden) ที่ตั้งอยู่บริเวณซากป้อมมันดอร์โบราณ ที่เป็นทั้งสวนพฤกษศาสตร์ สุสานหลวง พิพิธภัณฑ์ของรัฐ และเทวสถาน และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนในอื่น ๆ อีก เช่น ฆันตา ฆาร์ (Ghanta Ghar) หอนาฬิกาประจำเมืองสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1880 ะเลสาบและสวนเกย์ลานา (Kaylana Lake and Garden) ทะเลสาบบัลซามันด์ (Balsamand Lake) และสวนชีววิทยามาเจีย (Machia Biological Park) เป็นต้น

ราชาสถาน
ทัวร์ราชาสถาน

ทัวร์ราชาสถาน : นครสีฟ้า

ทัวร์ราชาสถาน : ป้อมเมหรานการห์

บิกาเน่ร์ Bikaner “ประเทศแห่งอูฐ Camel Country”

          บิกาเน่ร์ หรือ พิฆเนร์ ซึ่งหมายถึง เมืองแห่งพระพิฆเนศ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของรัฐราชาสถาน บิกาเน่ร์ เป็นหนึ่งในเมืองแรก ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในรัฐราชาสถาน เป็นเมืองที่มีอูฐสำหรับการนั่งอูฐดีที่สุดในโลก อูฐที่เมืองนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เรือแห่งท้องทะเลทราย” จนได้รับการขนานนามว่า “ประเทศอูฐ” และยังเป็นที่ตั้งฟาร์มเพาะพันธุ์และวิจัยอูฐที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และ “เทศกาลอูฐแห่งพิฆเนร์ (Bikaner Camel Festival)” ที่จัดขึ้นประจำทุกปี เป็นสิ่งที่ผู้มาเยือนเมืองนี้ไม่ควรพลาด ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงของอูฐมากมาย เช่น การเต้นอูฐ การแข่งวิ่งอูฐ การขี่อูฐเขย่าคอ เป็นต้น

          ที่โดดเด่นไม่เหมือนที่ใดในโลก คือ วัดการณี มาตา (Karni Mata Temple) หรือ วัดหนู (Rat Temple) เนื่องจากมีหนูจำนวนมาก ที่เชื่อกันว่าเป็น หนูศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกกันว่า กาบา โดยเทวีการณี มาตา เป็นองค์อวตารของเจ้าแม่ทุรคา และได้รับการดูแลเลี้ยงดูอย่างดีจากผู้ศรัทธา และถูกตีความว่าเป็น จริยธรรมฺฮินดูที่ใส่ใจกับสิ่งรอบตัวและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นลบ ซึ่งปรากฎการณ์นี้ทำให้ได้รับความสนใจทั้งเหล่าผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศเพื่อรับพร ขณะเดียวกันก็เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่อยากรู้อยากเห็นเรื่องนี้

จัยซัลเมร์ Jaisalmer “นครทองคำ Golden City”

            เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดของรัฐราชาสถาน ได้รับฉายาว่า “นครทองคำ หรือ เมืองทอง Golden City” ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลทรายธาร์ “Thar desert” ไฮไลต์สำคัญในการท่องเที่ยงเมืองนี้ คือ การออกไปท่องซาฟารีทะเลทราย (Desert Safari) ผจญภัยไปกับเนินทรายสูงใหญ่น้อยท่ามกลางทะเลทรายอันกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย  

          นอกจากความตื่นเต้นเร้าใจไปกับการนั่งอูฐ ผาดโผนกับรถจี๊ป แค้มปิ้งทะเลทราย ชมพระอาทิตย์ตกดินที่เนินทรายแซม (Sam Sand Dunes) ซึ่งที่นี่คือ สถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับกิจกรรมซาฟารีทะเลทรายของอินเดีย ยังมี “ป้อมปราสาทจัยซัลเมร์ (Jaisalmer Fort)” ที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1156 เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของ ราวัล จัยซัล ซิงห์ ซึ่งเป็นต้นแบบฉากการ์ตูนในเรื่อง “อาราเบียน ไนท์” และป้อมจัยซัลเมร์แห่งนี้ก็เป็นหนึ่งในป้อมปราการที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มากับการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมอิสลามิคเข้าฮินดูราชปุต ซึ่งภายในป้อมปราสาทที่มีทั้งพิพิธภัณฑ์ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก เป็นต้น

และมาถึงจัยซัลเมร์แล้วไม่ควรพลาด ฮาเวลี (Haveli) ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมากว่าหนึ่งศตวรรษโดยชุมชนมารวารี่ ที่ร่ำรวยจากการค้าขายฝ้าย คราม และฝิ่น จ้างศิลปินมาตกแต่งคฤหาสน์ บ้านหลังใหญ่ และทิวแถวทาวเฮ้าส์ของพวกเขาเพื่ออวดความมั่งคั่ง บ้านเรือนเต็มไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีสีสันวิจิตรงดงาม บรรยายชีวิตประจำวัน การเดินทางท่องเที่ยวของเจ้าของบ้าน ตลอดจนภาพยอดนิยม ตำนานพื้นบ้าน หรือแม้กระทั่งภาพอีโรติกด้วยเช่นกัน

จิตตอรการห์ Chittorgarh “ดินแดนโรแมนซ์และจิตวิญญาณ Land of Romance and Spirit”

จิตตอร์ (Chittaur) คือ ชื่อสั้น ๆ ที่ชาวอินเดียเรียกขาน เป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยกษัตริย์จิตรานคฑา โมริ (Chitrangada Mori) สายตระกูลฮินดูราชปุตแห่งราชวงศ์เมาริยะ ต่อมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิมูฆัล (Mughal Empire) อย่างไรก็ตามจิตตอรการห์เป็นที่รู้จักและเลื่องลือมากในรัฐราชาสถานจาก “ป้อมจิตตอร์ (Chittaur Fort)” ที่มีต้นกำเนิดจากเรื่องราวของเหล่าพี่น้องปาณฑพในมหากาพย์ภารตะ ว่ากันว่า ภีมะ เป็นผู้สร้างป้อมแห่ง โดยตั้งอยู่บนเนินเขาสูง 180 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 700 เอเคอร์ นี้ ปัจจุบันจิตตอรการห์ เป็นหนึ่งในหกนครสำคัญของรัฐราชาสถาน

จริง ๆ แล้ว ป้อมจิตตอร์ถูกสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์เมารยะ ในรูปสถาปัตยกรรมแบบฮินดูราชปุต ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของรัฐราชาสถาน ภายในป้อมปราสาทมีพระราชวังและศาสนสถานฮินดูที่เต็มไปด้วยงานประติมากรรมหินสลักที่ซับซ้อนสวยงามมากมาย เช่น พระราชวังรานา กุมภ์ พระราชวังปัทมณี ซึ่งเป็นประจักษ์พยานถึงความงดงามของรานีปัทมาและความโรแมนติกที่มีต่อพระนาง และเรื่องราวการแก้แค้นของสุลต่านอลาอุด-ดิน ฆาลจีผู้ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงกับกองทัพหลังม้าของมองโกลที่เข้ารุกรานอนุทวีปอินเดีย วัดสัมมิเทศวร วัดเชน วัดกลิกา มาตา วัดนิลกัณฑ์มหาเทพ วัดมีราไบและวัดกุมภศยัม ที่กล่าวถึงกวีลึกลับที่อุทิศตนทั้งชีวิตให้กับพระกฤษณะ และเสาอนุสาวรีย์หินที่แสดงถึงชัยชนะของกองทัพราชปุตเหนือกองทัพศัตรู เช่น เสาหินวิชัย (Vijay Stambh) และ เสาหินกีรติ (Kirti Stambh) เป็นต้น

อุทัยปูร์ Udaipur “นครแห่งทะเลสาบ Lake of City”

          เป็นเมืองสำคัญทางตอนใต้สุดของรัฐราชาสถาน อุทัยปูร์ หรือ อุทัยปุระ เป็นเมืองที่สวยงามที่หลอมรวมระหว่างธรรมชาติอันงดงามของทะเลและทิวเขาสูงอันกว้างใหญ่กับสิ่งก่อสร้างที่งดงามขนาดใหญ่น้อยของผู้ปกครองเมืองในอดีต ผ่านกาลเวลาที่มีทั้งช่วงรุ่งโรจน์ ทิ้งร้าง บูรณะใหม่ และกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญด้านการท่องเที่ยวของรัฐราชาสถานในปัจจุบัน

          อุทัยปูร์หรืออุทัยปุระ เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ใหญ่ที่สุดของรัฐราชาสถาน เป็นพระราชวังในเมือง หรือ ซิตี้พาเลส (City Palace) โดยส่วนหน้าของพระราชวังสูงตระหง่าน 30.4 เมตรและยาว 240 เมตร นครแห่งทะเลสาบแห่งนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น พระราชวังในเมือง (City Palace) ริมทะเลสาบ พระราชวังตาจ (Taj Lake Palace) ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นโรงแรมระดับเวิลด์คลาสที่ระดับมหาเศรษฐีต้องมาเยือนไปแล้ว พระราชวังจัก มันธีร์ (Jag Mandir Palace) หรืออีกชื่อ พระราชวังสวนทะเลสาบ (Lake Garden Palace) ในทะเลสาบพิโคล่า และ ป้อมกุมภัณฑ์การห์ (Kumbhalgarh Fort) ที่ได้ชื่อว่า “กำแพงเมืองอินเดีย (Great Wall of India)” สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 บนความสูง 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลชองภูเขาอะราวัลลี่ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบราชบุตร กำแพงล้อมรอบป้อมยาว 36 เมตร ภายในมีเทวสถานทั้งฮินดูและเชนรวมกันมากกว่า 70 แห่ง ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก “ชุดป้อมปราสาทบนเขาแห่งราชาสถาน” ห่างจากตัวเมืองอุทัยปูร์มาทางทิศเหนือราว 80 กม. ใช้เวลาเดินทางราว 2-3 ชั่วโมง

เม้าท์ อาบู Mouth Abu “โอเอซิสในทะเลทราย Oasis in Desert”

          สถานที่ตากอากาศบนเขา หรือ ฮิลล์ สเตชั่น (Hill Station) ที่มีความสูงราว 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ที่ได้รับการขนานนามว่า “โอเอซิสในทะเลทราย” ตั้งอยู่บนทิวเขาหินที่มีพื้นที่กว้าง 9 กม.และยาว 22 กม. และมียอดเขาคุรุ ชิการ์ (Guru Shikar Peak) สูง 1,722 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นยอดเขาสูงที่สุด และเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟอาบู โรด (Abu Road) ซึ่งทำหน้าที่เป็นประตูสู่ดินแดนโอเอซิสบนภูเขาหิน เพื่อให้ผู้คนได้หลบสภาพอากาศอันร้อนระอุจากดินแดนทะเลทรายด้านล่าง ขึ้นมาสัมผัสความเขียวขจีของป่าดิบแล้งบนเขาหินที่มีทั้งต้นแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตก

          เม้าท์ อาบู หรือ เม้าดาบู ในชื่อที่คนท้องถิ่นเรียกขาน ห่างจากเมืองอุทัยปูร์ มาทางทิศตะวันตกราว 164 กม. ใช้เวลาเดินทางราว 3-4 ชั่วโมง เม้าท์ อาบูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โด่งดังที่สุดของรัฐราชาสถาน

Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า