ทัวร์อินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้ Ep.2 ประวัติศาสตร์อินเดียใต้ โดย อ.ปติสร เพ็ญสุต

ประวัติศาสตร์อินเดียใต้

          ภาคใต้ของอนุทวีปอินเดียหรือที่เรียกรวม ๆ กันว่า ทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) นั้น ประกอบด้วยราชวงศ์เล็กน้อยจำนวนมาก ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมามีอำนาจ โดยหนึ่งในราชวงศ์โบราณที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในคาบสมุทรเดคข่าน คือ ราชวงศ์สาตวาหนะ (พุทธศตวรรษที่ 6- 8) มีเมืองหลวงอยู่ที่อานธรประเทศ กษัตริย์ราชวงศ์นี้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานเป็นหลัก และได้สรรค์สร้างพุทธศิลป์จำนวนมากขึ้นในชื่อ “ศิลปะอมราวดี” (Amaravati) ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกๆของโลกที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันของนักวิชาการว่า อาจมีอายุร่วมสมัยกับศิลปะคันธาระทางตอนเหนือของอินเดีย ผู้ได้ชื่อว่าสร้างสรรค์พระพุทธรูปแบบแรกของโลกที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะกรีก ศิลปะอมราวดีจึงถือเป็นกลุ่มงานช่างที่เป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคอินเดียใต้ ที่จะส่งอิทธิพลต่อไปยังศิลปะอื่นๆ ทั้งในศรีลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม หลังจากราชวงศ์สาตวาหนะเสื่อมลง ก็เกิดราชวงศ์เล็กราชวงศ์น้อยเจริญขึ้นอย่างน้อย 3 ราชวงศ์ คือ ปาณฑยะ (Pandya) ทางตะวันออกเฉียงใต้ ราชวงศ์เจระ (Chera) ทางตะวันตกเฉียงใต้ และราชวงศ์โจฬะ (ทางตะวันออกเฉียงใต้แถบโจฬะมณฑล -ชายฝั่งโคโรแมนเดล) ราชวงศ์เหล่านี้มีมานานตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาล แต่ยังเป็นเพียงอาณาจักรเล็กน้อยในตำนาน ที่ยังไม่สร้างเสริมกำลังกลายเป็นอาณาจักรใหญ่ ต่างรอคอยวันที่จะขึ้นมาเปลี่ยนอำนาจขึ้นมาในภายหลัง

จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 8 (พ.ศ.700) ก็มีราชวงศ์ใหม่เกิดขึ้นที่เมืองปัลลวะปุรัม (ทางฝั่งตะวันออกของอินเดียใต้) ชื่อว่า ราชวงศ์ปัลลวะ (Pallava) นักวิชาการเชื่อว่าราชวงศ์นี้ได้กำจัดอิทธิพลของราชวงศ์สาตวาหนะออกไป และสถาปนาเมืองหลวงขึ้นใหม่ที่กาญจีปุรัมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12  (ลึกเข้าไปในแผ่นดินเพื่อป้องกันภัยพิบัติจากทะเล) และได้เป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะฮินดูที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลแทนที่พุทธศิลป์ ทำให้ศาสนาพุทธในอินเดียใต้ค่อย ๆ เสื่อมความสำคัญลง แต่ยังมีเมืองสำคัญที่นับถือพุทธศาสนาอยู่บ้างเช่นเมืองนาคะปัฏฏนัม อันเป็นเมืองท่า
# ทัวร์อินเดียใต้ # ทัวร์อินเดียใต้# ทัวร์อินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้
ทัวร์อินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้
รูปแผนที่ดินแดนต่างๆ ในอินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้
แผนที่ราชวงศ์ต่างๆ ในอินเดียใต้

ราชวงศ์ปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 8 – 15)
ราชวงศ์ปัลลวะ (Pallava) เป็นราชวงศ์ที่ครองอำนาจในอินเดียใต้นานกว่า 500 ปี มีตำนานว่าปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ปัลลวะสืบเชื้อสายมาจากพญานาค (คล้ายคลึงกับตำนานต้นวงศ์กัมพูชาและชาวจามปาในเวียดนาม) ถือว่าเป็นราชวงศ์ฮินดูราชวงศ์แรก ๆ ที่เป็นต้นเค้าให้กับศิลปะอินเดียใต้ทั้งมวล ชาวทมิฬเป็นนักเดินเรือที่เก่งกาจเช่นเดียวกับการเป็นนักรบ ดังนั้นพวกเขาจึงเดินทางติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ทั้งจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งมีการส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมให้กับดินแดนต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยเฉพาะทางด้านภาษาและศาสนา พวกเขายังรักษาการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรโรมันที่มีมาก่อนหน้าในราชวงศ์สาตวาหนะไว้อีกด้วย

ทางด้านการศึกภายใน ราชวงศ์ปัลลวะรายล้อมด้วยราชวงศ์พาฑามิ (Padami) และราชวงศ์จาลุกยะ (Chalukya) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญที่เคยยึดเมืองหลวงของปัลลวะได้ แต่กลับไม่ได้ทำลายลงเพราะความสวยงามอลังการของงานสถาปัตยกรรม ขณะที่ทางทิศใต้ อาณาจักรปัลลวะต้องต่อสู้กับราชวงศ์เกิดใหม่ที่ขึ้นมาแข่งบารมี คือราชวงศ์โจฬะ (Chola) และปาณฑยะ ราชวงศ์ปัลลวะขึ้นสู่ยุครุ่งเรืองยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นเวลาราว ๆ 200 ปีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-14 แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ให้กับพระเจ้าอาทิตยะโจฬะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 หลังจากนั้น คาบสมุทรภาคใต้ของอินเดียก็ตกอยู่ในอำนาจของราชวงศ์โจฬะทั้งหมดเป็นเวลาอีกราว 300 ปี

ราชวงศ์ปัลลวะถือเป็นรากเหง้าของการก่อสร้างสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมทมิฬต่าง ๆ ที่จะส่งอิทธิพลให้กับศิลปะอินเดียใต้รุ่นหลัง รวมทั้งศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 -13 ด้วย เช่น ศิลปะทวารวดีในไทย ศิลปะก่อนเมืองพระนคร (Pre -Angkor) ในเขมร และเทวรูปต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย ตัวอักษรแบบปัลลวะ – หลังปัลลวะ ก็เป็นรูปแบบอักษรที่ส่งอิทธิพลให้กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นบรรพบุรุษของอักษรขอมและไทยด้วย
# ทัวร์อินเดียใต้ # ทัวร์อินเดียใต้# ทัวร์อินเดียใต้

กษัตริย์ที่สำคัญของราชวงศ์ปัลลวะ

พระเจ้าสิงหวิษณุ (ราวพุทธศตวรรษที่ 12)

พระเจ้าสิงหวิษณุทรงเป็นกษัตริย์ในยุคต้นราชวงศ์ปัลลวะ ครองราชย์ราว ๆ 33 ปี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 (พ.ศ. 1100) ในยุคนี้มีราชวงศ์อีก 4 ราชวงศ์ที่แก่งแย่งอำนาจกันในอินเดียใต้ ได้แก่ โจฬะ เจระ จาลุกยะ ปาณฑวะ ซึ่งเป็นศัตรูที่คอยรุกรานราชวงศ์ปัลลวะอยู่เสมอ แต่สิงหวิษณุนั้น พระองค์เป็นนักรบที่เก่งกล้า สามารถแผ่ขยายดินแดนจากชายฝั่งทะเลตะวันออกเข้าไปสู่เมืองกาญจีปุรัมได้ และสถาปนากาญจีปุรัมเป็นเมืองหลวง พระองค์ยังทรงส่งกองเรือรบไปรุกรานดินแดนต่าง ๆ รอบมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ ศรีลังกา และมลายู

สิงหวิษณุทรงเป็นกวีที่สามารถและอุปถัมภ์กวีต่าง ๆ มีวรรณกรรมโด่งดังมากมายที่เขียนขึ้นในรัชสมัยนี้ เช่น บทกวีเกี่ยวกับ กีตารชุน (การดวลธนูระหว่างพระศิวะและอรชุน เพื่อแย่งหมูป่า) ทรงอุปถัมภ์การแสดงนาฏศิลป์กุฏิยัตตัม เมื่อสิ้นรัชสมัยแล้ว พระโอรสคือพระเจ้ามเหนทรวรมันทรงแต่งบทประพันธ์สรรเสริญความกล้าหาญของพระองค์ และยังสร้าง วีรคัล (หินสลักภาพชีวประวัติ) ถวายพระราชบิดาด้วย

มีการค้นพบภาพสาทิสลักษณ์พระองค์เองไว้ในถ้ำอาทิวราหะ ซึ่งถือว่าเป็นภาพเหมือน (Portrait) ที่เก่าแก่ที่สุดภาพหนึ่งในอินเดีย เนื่องจากในยุคโบราณ ไม่นิยมสร้างภาพเหมือนบุคคลที่ไม่ใช่เทพเจ้า

ทัวร์อินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้
รูปพระเจ้าสิงหวิษณุพร้อมพระชายา จากถ้ำอาทิวราหะ มามัลลปุรัม

(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Simhavishnu)

พระเจ้ามเหนทรวรมัน พ.ศ. 1143-1173

พระเจ้ามเหนทรวรมันเป็นโอรสของพระเจ้าสิงหวิษณุ ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำศึกกับพระเจ้าปุลเกศินที่ 2 แห่งราชวงศ์จาลุกยะ แม้ว่าจะไม่ทรงพ่ายแพ้ แต่ก็เสียดินแดนทางทิศเหนือไป ต้องรอจนกระทั่งสมัยพระโอรส คือพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 1 ผู้ทรงพิชิตพระเจ้าปุลเกศินที่ 2 ได้ และบุกตีเข้าไปจนถึงเมืองหลวงของพวกราชวงศ์จาลุกยะ

แต่เดิมพระองค์ทรงนับถือศาสนาเชน แต่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย ตามอิทธิพลของนักบุญอัปปาร์ (นักบวชไศวนิกายในพุทธศตวรรษที่ 12 ผู้เปลี่ยนจากศาสนาเชนมานับถือไศวนิกายเช่นกัน) มเหนทรวรมันทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรีและสถาปัตยกรรมมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มศาสนสถานสลักหินที่เมืองมามัลลปุรัม สถาปัตยกรรมในยุคของพระองค์ถือเป็นงานช่างในยุคแรก ๆ ของราชวงศ์ปัลลวะ ที่นิยมการสลักศาสนสถานขนาดเล็กเข้าไปในถ้ำ หรือสลักจากหินทั้งก้อน (เช่นเทวาลัยปัญจรถะที่มหาพลีปุรัม) และนิยมจารึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้บนหิน พระองค์ยังสร้างระบบชลประทานอีกด้วย

เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระโอรสคือนรสิงหวรมันที่ 1 ทรงสานต่องานของพระองค์ด้านการศึกสงครามด้วยการเอาชนะพระเจ้าปุลเกศินที่ 1 แห่งจาลุกยะ และทรงก่อสร้างเทวาลัยที่เมืองมามัลปุรัมต่อจนสมบูรณ์ ในรัชกาลนี้เองที่ภิกษุจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) เดินทางมาถึงเมืองกาญจีปุรัม พระนามมเหนทรวรมันยังเป็นเสมือนพระนามศักดิ์สิทธิ์ที่กษัตริย์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทรงรับไปใช้ในภายหลัง เช่น เจ้าชายจิตรเสนแห่งอาณาจักรเจนละ (ยุคก่อนเมืองพระนครของกัมพูชา)
# ทัวร์อินเดียใต้ # ทัวร์อินเดียใต้# ทัวร์อินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้
เทวาลัยปัญจรถะเมืองมหาพลีปุรัม
ที่มา:https://www.worldhistory.org/image/4127/pancha-ratha-mahabalipuram/)

พระเจ้านรสิงหวรมันที่ 2 (พ.ศ.1233 – 1268)

พระเจ้านรสิงหวรมันที่ 2 เป็นกษัตริย์ที่สำคัญในช่วงปลายของราชวงศ์ปัลลวะ พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าปรเมศวรที่ 1 พ่อลูกคู่นี้เป็นนักรบที่ชาญฉลาดและขยายขอบเขตอำนาจของพระองค์ออกไปกว้างไกล จนพระเจ้านรสิงวรมันที่ 2 ทรงมีฉายานามว่า ราชามัลละ แปลว่านักมวยปล้ำหรือนักรบผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ยังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับราชวงศ์ถังแห่งจีนอีกด้วย

พระองค์ทรงสร้างเทวาลัยต่าง ๆ ในเมืองมามัลลปุรัมเพิ่มเติม ได้แก่ เทวาลัยชอร์ (Shore temple) เทวาลัยไกรลาสนาถ วัดไวกูณฑเปรุมัลที่กาญจีปุรัม วัดไอราวัตเนศวร (สามแห่งหลังอยู่ที่กาญจีปุรัม) ทรงเป็นสาวกที่ศรัทธาของพระศิวะ จนได้รับยกย่องให้เป็นนักบุญ (นายะนาร์) คนหนึ่งในบรรดานักบุญหลัก 63 องค์ของไศวนิกาย
# ทัวร์อินเดียใต้ # ทัวร์อินเดียใต้# ทัวร์อินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้
พระรูปของพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 2 และพระชายาที่เทวาลัยชอร์
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Narasimhavarman_II#/media/File:Narasimhavarman_II.jpg

            ราชวงศ์ปัลลวะค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลงหลังรัชกาลพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 2 เนื่องจากเกิดศึกสงครามหลายครั้งกับราชวงศ์ต่าง ๆ เช่น ราชวงศ์จาลุกยะเคยยึดได้เมืองกาญจีปุรัมอันเป็นเมืองหลวง จากนั้นก็เกิดศึกกับราชวงศ์ราษฏรกูฏะ ราชวงศ์คงคา และราชวงศ์ปาณฑยะ แม้ว่าจะมีความพยายามแต่งงานเชื่อมสัมพันธ์กับราชวงศ์อื่น ๆ แต่ในที่สุดกษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระเจ้าอปราชิตวรมันก็ถูกพระเจ้าอาทิตยะที่ 1 แห่งราชวงศ์โจฬะกำจัดออกไป ถือเป็นจุดสิ้นสุดราชวงศ์ปัลลวะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคทองของราชวงศ์โจฬะ

ราชวงศ์โจฬะ (พุทธศตวรรษที่ 15 – 18)

ราชวงศ์โจฬะถือเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายกันมายาวนานมากที่สุดในโลก โดยปรากฏชื่อในจารึกของกษัตริย์ราชวงศ์โมริยะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองดินแดนอินเดียใต้ร่วมกันกับราชวงศ์ปาณฑยะและราชวงศ์เจระ (Chera) อย่างไรก็ตาม บทบาทของราชวงศ์โจฬะในยุคโบราณยังไม่ชัดเจนยิ่งใหญ่มากนัก ต้องรอจนกระทั่งถึงยุคทองที่จะก้าวสู่อำนาจในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 หลังจากพระเจ้าอาทิตยโจฬะมีชัยชนะเหนือราชวงศ์ปัลลวะที่กำลังเสื่อมถอยเพราะสงครามกลางเมือง เมื่อทรงปราบอาณาจักรปัลลวะได้แล้ว โจฬะก็ครองอำนาจอย่างยิ่งใหญ่อยู่กว่า 300 ปีจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยอาศัยการค้าทางทะเลกับอาณาจักรต่างๆ เช่น จีน โรมัน เปอร์เซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้อาณาจักรนี้ร่ำรวยมากขึ้น กองเรือของโจฬะยังสำรวจดินแดนต่างๆ ที่อินเดียยังไม่รู้จักนัก เช่น ฝั่งตะวันออกของแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังสามารถสะสมอำนาจด้านกองทัพเรือที่สามารถแล่นไปปราบปรามดินแดนต่าง ๆ ประกอบกับชื่อเสียงของบรรดาทหารกองทัพโจฬะว่ามีความโหดเหี้ยมเด็ดขาด จึงสามารถยึดครองประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ริมชายฝั่งทะเลได้โดยง่าย จึงอาจกล่าวได้ว่า โจฬะเป็นอาณาจักรที่เติบโตทางทะเลมากกว่าทางบก

ราชวงศ์โจฬะก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ผ่านทางยุคของมหาราชที่สำคัญ 4 พระองค์ที่ครองราชย์ร่วมสมัยกันคือ
1.พระเจ้าราชาราชะโจฬะ (พ.ศ.1490- 1557)
2.พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 1 (พ.ศ. 1555 -1606)
3.พระเจ้าราชาธิราช (พ.ศ.1561-1597)
4.พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 2 (พ.ศ.1594- 1606)

ทัวร์อินเดียใต้

ทัวร์อินเดียใต้
รูปอาณาเขตของราชวงศ์โจฬะ

ที่มา:https://en.wikipedia.org/wiki/Rajendra_Chola_I#Temples

1.พระเจ้าราชาราชะโจฬะ (พ.ศ.1490- 1557)

          พระเจ้าราชาราชะโจฬะ ถือเป็นมหาราชแห่งราชวงศ์โจฬะพระองค์แรกที่นำความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์กลับมา พระองค์ทำสงครามขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวาง ทรงรบชนะราชวงศ์ปาณฑยะและราชวงศ์เจระ ทางทะเล พระองค์ทรงรุกรานมัลลทวีป (มัลดีฟ) และลักษมัณทวีป และยกทัพไปรุกรานราชวงศ์จาลุกยะทางเหนือเพื่อครอบครองปากแม่น้ำโคธาวารี รวมทั้งแคว้นกลิงคะ (เบงกอล) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ การที่พระองค์ทรงยกทัพได้รวดเร็วนั้นเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการเดินเรือที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น

          พระเจ้าราชาราชะโจฬะทรงยกทัพไปตีศรีลังกา อันเป็นอาณาจักรพุทธ และเข้าโจมตีราชธานีอนุราชปุระ ทำให้พระเจ้ามหินท์ กษัตริย์ศรีลังกาต้องเสด็จหนีไปยังโรหณะชนบท ราชราชะทรงสถาปนาวัดราชาราเชศวร พร้อมตั้งเมืองป้อมขึ้นที่โปลนนารุวะในศรีลังกาเพื่อทำสงครามปราบศรีลังกาต่อไป พระองค์ทรงเปรียบเทียบศึกลังกาครั้งนี้ว่า ทรงเหนือกว่าพระรามในเรื่องรามายณะ เพราะพระรามเสด็จข้ามทะเลโดยใช้ฝูงลิง แต่พระองค์เสด็จโดยกองเรือรบอันเกรียงไกร กระนั้นก็ดี ราชวงศ์โจฬะยังยึดลังกาไม่สำเร็จจนกระทั่งถึงสมัยพระโอรส ราเชนทรโจฬะที่ 1 ซึ่งจะทำลายเมืองหลวงอย่างราบคาบจนลังกาต้องย้ายราชธานี ด้วยเหตุนี้ ชาวทมิฬฮินดูจึงเข้าไปมีอิทธิพลอยู่ในภาคเหนือของศรีลังกา ขณะที่ชาวสิงหล (ศรีลังกา) ที่นับถือศาสนาพุทธต่างอพยพลงไปทางภาคใต้ ปัจจุบันในจังหวัดจาฟนาทางเหนือของศรีลังกาก็ยังคงเป็นเขตพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติและศาสนาระหว่างชนสองกลุ่มคือทมิฬกับสิงหลอยู่

2.พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 1 (พ.ศ. 1555 -1606)

          ราเชนทรโจฬะที่ 1 ทรงสำเร็จราชการร่วมกับพระราชบิดา คือราชาราชะโจฬะ พระองค์ทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้า ทรงขยายอำนาจทางทะเลออกไปอีก จนกระทั่งอาณาจักรโจฬะมีเขตแดนใหญ่โตกว้างขวางที่สุด ทรงยกทัพเรือไปปราบศรีลังกาจนราบคาบ (ศรีลังกาต้องย้ายเมืองหลวงใหม่ไปยังเมืองโปลนนารุวะ) ทรงผนวกหมู่เกาะมัลดีฟ (มัลลทวีป) ไว้ในอำนาจ และแล่นเรือขึ้นไปทางทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นไปยังแคว้นเบงกอลที่อยู่ในอำนาจของราชวงศ์ปาละ ที่นั่นเป็นพื้นที่ของแม่น้ำคงคา นักวิชาการโบราณเชื่อว่าพระองค์ปรารถนาจะนำแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ลงไปยังแคว้นโจฬะ จึงเสด็จขึ้นมาทำสงครามกับพระเจ้ามหิปาละแห่งราชวงศ์ปาละที่เบงกอล ทรงได้รับชัยชนะและได้สถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ ชื่อ คงคาโกณฑะโจฬะปุรัม (แปลว่า ผู้นำคงคาลงมา) พระองค์ทรงสถาปนามหาเทวาลัยและพระราชวังใหม่ขนาดใหญ่ พร้อมเมืองขนาดใหญ่ที่มีทะเลสาบเทียมอีกด้วย เมืองแห่งนี้เป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรโจฬะไปอีกนาน จนกระทั่งถูกราชวงศ์ปาณฑวะยึดไปได้ในพ.ศ.1807

          พระเจ้าราเชนทรโจฬะยังทรงยกทัพเรือไปทำสงครามกับอาณาจักรศรีวิชัยในอินโดนีเซียและมลายู รวมทั้งอาณาจักรต่างๆ ในภาคใต้ของไทย เช่น ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ในระยะแรก ทรงตอบรับการเป็นพันธมิตรของตามพรลิงค์และศรีวิชัย เพื่อต่อต้านการโจมตีของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 แห่งกัมพูชาที่ต้องการรุกรานคาบสมุทรภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา พระเจ้าราเชนทรโจฬะทรงยกทัพไปตีดินแดนหมู่เกาะและคาบสมุทรทั้งหมดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งเกาะชวา ตามพรลิงค์ มลายู และศรีวิชัยในสุมาตรา การรุกรานครั้งใหญ่นี้ทำให้ขั้วอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แปรปรวนไป แต่กลับเกิดเมืองท่าขนาดเล็กมากมายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพ่อค้าทมิฬจากอินเดียใต้ เกิดหมู่บ้านชาวทมิฬมากมายตามชายทะเล ซึ่งเข้าไปแต่งงานผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์พื้นเมือง มีกษัตริย์ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมายที่อ้างตนว่าสืบจากราชวงศ์โจฬะ เช่น ราชวงศ์ในมลายูและฟิลิปปินส์ อีกทั้งยังปรากฏตัวอย่างศิลปกรรมแบบโจฬะหลายชิ้นที่พบจากทางใต้ของไทย เช่น ประติมากรรมพระศิวะขนาดใหญ่จากพังงา (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง)

ในที่สุด พระเจ้าราเชนทรโจฬะทรงตีได้เมืองเคด้าห์ (หรือไทรบุรี) จึงทรงได้รับสมญานามว่า กฏารัมโกณฑัณ (แปลว่าผู้ได้รับกฏารัม ชื่อเก่าของไทรบุรี) นอกจากนี้ยังได้รับสมญานามว่า  Mummudi Cholan หรือ “โจฬะสามมงกุฎ” จากพระราชบิดา เนื่องจากทรงเอาชนะและได้ปกครองราชอาณาจักรใหญ่ทั้งสามในอินเดียใต้ คือปาณฑยะ เจระ และโจฬะ

          ทางด้านศาสนา พระเจ้าราเชนทรโจฬะทรงสร้างวิหารคงคาโกณฑะโจฬะ เพื่อเป็นที่ระลึกในการที่พระองค์ทรงยกทัพบุกไปถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำคงคาได้       ทรงสร้างเทวาลัยพฤหธิศวร (เมืองตันจาวูร์) ที่มีปราสาทประธานสูงถึง 30 เมตร บนยอดสุดเป็นโดมหินแกรนิตชิ้นเดียวหนักถึง 80 ตันเพื่อบูชาพระศิวะ อีกวัดหนึ่งที่สำคัญคือ ไอราวเตศวร ที่เมืองทารสุราม ซึ่งมีตำนานว่าช้างเอราวัณของพระอินทร์มาอาบน้ำชำระกายที่นี่ จึงได้รับการตั้งชื่อตามช้างสำคัญนี้ เทวาลัยเหล่านี้มีขนาดใหญ่มากและได้รับการยกย่องว่าเป็น “เทวสถานที่ยังมีชีวิตของราชวงศ์โจฬะ” เนื่องจากปัจจุบันยังมีการบูชาอย่างต่อเนื่องมิได้ถูกทิ้งร้าง

3.พระเจ้าราชาธิราช (พ.ศ.1561-1597)

          พระเจ้าราชาธิราชโจฬะ ทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ ทรงได้รับสมญานามว่า ชัยโกณฑะโจฬะ (โจฬะผู้ได้ชัย) แต่รัชกาลของพระองค์ไม่ยาวนานนัก ราวๆ 26 ปี และได้รับชื่อเสียงจากการที่ทรงกล้าหาญในการศึกจนสิ้นพระชนม์ระหว่างรบกับราชวงศ์ปาณฑวะ ในช่วงรัชสมัยนี้ ทรงทำศึกกับราชวงศ์จาลุกยะที่อยู่ทางภาคตะวันตก และทำการรบอย่างหนักกับศรีลังกา ที่ก่อการจลาจลเสมอๆ เพราะกษัตริย์โจฬะรัชกาลก่อนๆ ได้ทำลายเมืองหลวงของศรีลังกาลง บรรดาเจ้านายลังกาจึงเสด็จลี้ภัยลงไปทางภาคใต้ และพยายามจะแย่งชิงบัลลังก์คืนเสมอ พวกเจ้าลังกาได้ผูกมิตรกับเจ้านายราชวงศ์ปาณฑวะ ศัตรูเก่าของโจฬะ ซึ่งทำให้พระเจ้าราชาธิราชต้องเสด็จไปปราบปรามอยู่เนือง ๆ อย่างไรก็ดี เจ้าชายกัสสปะแห่งศรีลังกาผู้ต้านทานทัพโจฬะได้ยาวนานก็สถาปนาพระองค์เองเป็นพระเจ้าปรากรมพาหุ มหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งศรีลังกาได้สำเร็จ

4.พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 2 (พ.ศ.1594- 1606)

          พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 2 ทรงครองราชย์ต่อจากพระเชษฐาคือพระเจ้าราชาธิราช ผู้สิ้นพระชนม์กลางศึกกับพวกปาณฑวะ และไม่มีโอรสที่เจริญพระชันษาแล้ว พระอนุชาของพระองค์จึงขึ้นครองราชย์แทนเป็นพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 2 และรับมอบหน้าที่การทำสงครามต่อไป โดยเฉพาะการปราบปรามจลาจลที่ศรีลังกา และยังแผ่ขยายดินแดนขึ้นเหนือไปยังแคว้นเบงกอล และพิชิตแคว้นปาณฑยะ โดยทรงชนะกษัตริย์โสเมศวรได้

ในทางด้านศาสนา ในรัชสมัยของพระองค์ก็มีการสร้างเทวาลัยจำนวนหนึ่ง เช่น วัดอุลคลานถระ (Ulagalantha Perumal) ที่อุทิศให้พระวิษณุ วัดอคัศตีศวร สร้างอุทิศพระศิวะ
# ทัวร์อินเดียใต้ # ทัวร์อินเดียใต้# ทัวร์อินเดียใต้

จุดจบของราชวงศ์โจฬะ

            อาณาจักรโจฬะครองอำนาจในทมิฬนาฑูเป็นเวลาราวๆ 300 ปี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 -17 ก็เริ่มเสื่อมลงจากปัญหาการทุจริตภายใน การแก่งแย่งอำนาจ และขาดแคลนทรัพยากร จึงเริ่มถูกอาณาจักรใกล้เคียงรุกรานแบ่งแยกดินแดนออกไปทีละน้อย ทำให้อาณาเขตลดลง โดยเริ่มจากการแต่งงานกับศัตรูเก่าคือ ราชวงศ์จาลุกยะ ดังนั้นในช่วงท้ายของอาณาจักรโจฬะถูกเรียกว่าราชวงศ์ จาลุกยะ – โจฬะ กษัตริย์ที่อ่อนแอลงและการโจมตีจากศัตรูรอบด้านทำให้โจฬะเสื่อมลงเรื่อย ๆ และมีอาณาเขตเล็กลงเรื่อย ๆ เริ่มจากการเสียอำนาจทางทะเล และดินแดนอาณานิคมคือศรีลังกา และต่อมาก็เสียเมืองหลวงคือ คงคาโกณฑะโจฬะปุรัมให้แก่ราชวงศ์ปาณฑยะ จนในที่สุดก็ถูกอาณาจักรปาณฑวะเข้ายึดครองอาณาจักร และเอาชนะพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 3 ได้ในพ.ศ.1822 ราชวงศ์โจฬะจึงสูญสิ้นลง และกลายเป็นเสมือนหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีหัวหน้าเผ่าของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏว่ามีลูกหลานของราชวงศ์โจฬะหลงเหลืออยู่จนถึงสมัยอังกฤษเข้าปกครอง
# ทัวร์อินเดียใต้ # ทัวร์อินเดียใต้# ทัวร์อินเดียใต้

อาณาจักรวิชัยนคร ยุคหลังราชวงศ์โจฬะ

            หลังสิ้นราชวงศ์โจฬะ ก็เกิดอาณาจักรพื้นเมืองขึ้นในอินเดียใต้คือ อาณาจักรวิชัยนคร หรือ กรรนาตะนายก ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวฮินดูเพื่อต่อต้านอิทธิพลจากสุลต่านชาวมุสลิมแห่งเดลีที่พยายามแผ่อำนาจลงทางทิศใต้ อาณาจักรแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.1879 (ร่วมสมัยการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา) โดยกษัตริย์ชื่อหริหระที่ 1 มีเมืองหลวงที่ Hampi  หลังจากนั้นก็มีราชวงศ์ย่อยๆ 4 ราชวงศ์ผลัดกันขึ้นมาปกครอง อาณาจักรวิชัยนครเจริญรุ่งเรืองมากในทุก ๆ ด้านในสมัยพระเจ้ากฤษณะเทวราชา พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการทำสงครามกับสุลต่านแห่งโกลกอนดาและอาเหม็ดนครหลายครั้ง ทรงผูกมิตรกับชาวโปรตุเกสเพื่อซื้อขายอาวุธปืนด้วย

อาณาจักรวิชัยนครสะสมกำลังจนสุลต่านแห่งเดลีพยายามปราบปรามให้ราบคาบ จนกระทั่งในสมัยพระเจ้ารามรายะ ในยุทธการที่ตาลิโกตา สุลต่านแห่งเดลีคือฮุเซนชาห์ทรงใช้กองทัพที่ทันสมัยกว่าและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ทรงจับพระเจ้ารามรายะได้และสั่งประหารชีวิต อาณาจักรวิชัยนครจึงแตกออกเป็นเสี่ยงในพ.ศ.2189 กลายเป็นราชวงศ์พื้นเมืองต่างๆ ที่เรียกว่า “นายก” เช่น นายกแห่งเมืองมธุไร นายกแห่งเมืองตันชอร์ ราชอาณาจักรไมซอร์ นายกแห่งจิตราทุรคา เป็นต้น แต่หลังจากนั้น อาณาจักรโมกุลซึ่งเป็นมุสลิม ก็เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองในอนุทวีปอินเดียเกือบทั้งหมด ยกเว้นบางอาณาจักรที่ยังมีมหาราชาที่เข้มแข็งปกครองตนเองได้ และกลุ่มเมืองท่าที่ตกเป็นของชาวยุโรป เช่น เมืองโกอา เมืองโคจิ ของโปรตุเกส เมืองปอนดิเชอรีของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม สุลต่านแห่งเดลีก็ต้องเผชิญหน้ากับบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ ซึ่งเริ่มเข้ามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 แต่ก็มิได้เป็นภัยคุกคามกับรัฐสุลต่านนัก จนกระทั่งราวพ.ศ.2300 (ร่วมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์) อังกฤษจึงเริ่มทำสงครามกับราชวงศ์โมกุลและได้รับชัยชนะทีละเล็กทีละน้อย และสถาปนา บริติช ราช ได้ในช่วงพ.ศ.2400 รัฐบาลอังกฤษได้ขับไล่สุลต่านโมกุลองค์สุดท้ายออกไปพำนักในพม่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคอาณานิคมอังกฤษในอินเดียอย่างเต็มตัว
# ทัวร์อินเดียใต้ # ทัวร์อินเดียใต้# ทัวร์อินเดียใต้

บทความโดย อาจารย์ปติสร  เพ็ญสุต
วิทยากรพิเศษและนำ ทัวร์อินเดียใต้  เดินทาง 24-31 มกราคม 2566

Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า