ทัวร์เนปาล : จัตุรัสปาฏัน เดอร์บาร์ Patan Durbar Square

ทัวร์เนปาล

ทัวร์เนปาล : จัตุรัสปาฏัน เดอร์บาร์ Patan Durbar Square

ทัวร์เนปาล : จัตุรัสปาฏัน เดอร์บาร์ Patan Durbar Square

จัตุรัสปาฏัน เดอร์บาร์ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลลิตปูร์ เป็นหนึ่งในสามจัตุรัสหลวงแห่งหุบเขากาฐมัณฑุ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1979 ในกลุ่มมรดกทางวัฒนธรรมแห่งหุบเขากาฐมัณฑุ โดยปาฏัน เดอร์บาร์ สแควร์ เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของพระราชวังโบราณที่เหล่ากษัตริย์แห่งมัลละประทับอยู่

จัตุรัสหลวงแห่งนี้ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของสถาปัตยกรรมแบบนีวะร์ และเป็นศูนย์กลางของศาสนาฮินดูและพุทธภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างจากอิฐแดง ไม่ว่าจะเป็นวัง วิหาร วัด และรูปปั้นมากมาย โดยมีวัดหลักตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งตะวันตกของพระราชวัง และทางเข้าวัดหันไปทางทิศตะวันออกสู่พระราชวัง มีระฆังตั้งอยู่ด้านข้างของวิหาร ซึ่งรอบๆ จัตุรัสเต็มไปด้วยที่พักอาศัยเก่าโบราณของชาวนีวารี และจัตุรัสหลวงปาฏันยังมีลานที่เรียกว่า บาฮาล 136 แห่ง และวัดน้อยใหญ่อีก 55 แห่ง ซึ่งสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในบริเวณจัตุรัสแห่งนี้ได้พังพินาศอย่างหนักเมื่อ 25 เมษายน 2015

แม้ประวัติของจัตุรัสหลวงแห่งปาฏันจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็ยอมรับกันว่ากษัตริย์แห่งมัลละเป็นผู้สร้างจัตุรัสแห่งนี้ขึ้น ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณทางแยกโบราณ โดยมีชาวปราฑานที่ตั้งรกรากอยู่ก่อนหน้าที่พวกมัลละจะเข้ามามีอำนาจ มีความเกี่ยวข้องกับจัตุรัสหลวงแห่งนี้ โดยพงศาวดารบางฉบับบอกเป็นนัยว่าราชวงศ์ฐากูรี เป็นผู้สร้างพระราชวังและทำการปฏิรูปท้องถิ่น แต่ก็เป็นเพียงหลักฐานเล็กน้อยเกี่ยวข้อง แต่นักวิชาการก็มั่นใจว่าปาฏันเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาล

เหล่ากษัตริย์มัลละได้ทำการเปลี่ยนแปลงจัตุรัสหลวงแห่งนี้มาโดยตลอด ซึ่งสถาปัตยกรรมที่เห็นในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยสร้างขึ้นในรัชสมัยชองกษัตริย์สิทธิ นารสิงห์ มัลละและกษัตริย์ศรีนิวาสะ สุกรีติ รวมถึงกษัตริย์มัลละที่มีชื่อเสียงบางพระองค์ก็ได้บูรณะปฏิสังขรณ์จัตุรัสหลวงแห่งนี้ด้วย เช่น พระเจ้าปุราณธาราสิงหะ พระเจ้าศิวสิงหะ มัลละ และพระเจ้าโยคณเรนทรา มัลละ เป็นต้น

สิ่งก่อสร้างสำคัญบริเวณจัตุรัสหลวงปาฎัน ได้แก่

วัดพระกฤษณะมันธีร์ หรือ วัดพระกฤษณะมณเทียร Krishna Mandir Temple

เป็นวัดสำคัญที่สุดในจัตุรัสหลวงปาฏัน มีโครงสร้างอาคารสามชั้นแกะสลักประดับยอดครันถกูฎ Granthakuta ซึ่งเป็นโดมหินแบบศิขระ Shikhara และการแกะสลักหินตามชื่อเหนือเสาของอาคารชั้นที่หนึ่งที่เล่าเรื่องราวเหตุการณ์ในมหาภารตะ และชั้นสองโดดเด่นด้วยภาพแกะสลักเรื่องราวรามายณะ

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1667 โดยกษัตริย์สิทธิ นารสิงห์ มัลละ ว่ากันว่าพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระกฤษณะและพระมเหสีศรีมาติ ราธา ทรงยืนอยู่หน้าพระราชวัง โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นที่เดียวกัน มียอดทองคำ 21 ยอดในวัด ด้านล่างของยอดมีสามชั้น ชั้นแรกมีแท่นบูชาหลักของพระกฤษณะ โดยมีแท่นบูชาของพระนางราธากับแท่นของพระนางรุขมณี อัครมเหสีของพระกฤษณะ ตั้งอยู่คนละด้านซ้ายขวา และชั้นสองสร้างถวายแด่องค์พระศิวะ และชั้นสามสร้างถวานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

บริเวณจัตุรัสหลวงแห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้แสวงบุญชาวฮินดูและศาสนิกชนฮินดูหลายพันคนในช่วงเทศกาลกฤษณ ชันมาศตามิ ซึ่งเป็นงานฉลองวันประสูติของพระกฤษณะซึ่งองค์อวตารที่แปดของพระวิษณุ

วัดภิมเสน มันธีร์ Bhimsem Mandir Temple

สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1680 ในสมัยกษัตริย์ศรีนิวาสะ มัลละ โดดเด่นและมีชื่อเสียงจากหน้าต่างสีทองสามบานที่เชื่อมต่อกัน โดยภิมเสนหรือภีมะเป็นบุคคลยิ่งใหญ่ในมหาภารตะ เป็นพี่น้องคนที่สองในกลุ่มปาณฑพทั้งห้า ซึ่งเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญและแข็งแกร่ง ตามความเชื่อและศรัทธาของชาวนีวะร์ที่มีต่อเขา ภีมะได้รับการสักการะบูชาในฐานะองค์เทพแห่งธุรกิจและการค้า วัดแห่งนี้ไม่อนุญาตให้ท่านท่องเที่ยวเข้าไปภายในวัด

วัดวิศวนาถ Vishwanath Temple

สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1627 ในสมัยกษัตริย์สิทธิ นารสิงห์ มัลละ เพื่ออุทิศแด่องค์พระศิวเทพ คำว่า “วิศวนาถ” ซึ่งเป็นชื่อของวัดมีความหมายว่า องค์เทพผู้ทรงเป็นทั้งมวล” จุดโดดเด่นของวัดอยู่ที่คันทวย (ตัวค้ำยันหลังคา) ได้รับการตกแต่งด้วยงานแกะสลักแนวอีโรติกคล้ายกับภาพแกะสลักในเทวสถานพระศิวะในอินเดีย นอกจากช้างสลักหินคู่ที่มีควาญนั่งอยู่บนหลังเฝ้าประตูฝั่งตะวันออก ซึ่งตามตำนานท้องถิ่นเชื่อว่า กษัตริย์จะไม่เสด็จขึ้นสวรรค์จนกว่าช้างหินจะลงมาจากวัดและดื่มน้ำจากน้ำพุมณีธารา ขณะที่ประตูฝั่งตะวันตกมีหินสลักรูป โคนนทิ พาหนะขององค์ศิวะเทพสลักหินนั่งหมอบหันหน้าเข้าหาวัด และมีสิงโต (นรสิงห์) สลักหินคู่ซึ่งสื่อถึงพระนามของกษัตริย์ สิทธิ นารสิงห์ มัลละ เฝ้า พร้อมด้วยองค์ศิวเทพสลักหินที่ประทับนั่งสองอิริยาบถซ้ายขวาอยู่ด้านหลังที่ฐานชั้นสองของวัด ภายในเป็นที่ประดิษฐานของศิวลึงค์หิน

วัดแห่งนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ ในปี ค.ศ. 1988 ส่งผลให้หลังคาเดิมของวัดพังเสียงหาย แม้จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมแต่ก็ยังมีความกังวลว่าจะพังลงมาอีกรอบหากเจอแผ่นดินไหวครั้งต่อไป ส่งผลต่อมรดกทางสถาปัตยกรรมของเมืองปาฏัน และเหตุแผ่นดินในวันที่ 25 เมษายน 2015 ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก มีเพียง คันทวยค้ำหลังคา บางส่วนที่ได้รับการซ่อมแซมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

วัดตเลชุภวานี Taleju Bhawani Temple

สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1671 ในสมัยกษัตริย์นิวาสะ มัลละ ผู้ปกครองรัชกาลที่ 5 ของราชวงศ์มัลละ อุทิศแด่องค์ตเลชุ ภวานีเทวี องค์เทพที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียใต้ แต่ได้รับยกเกียรติให้เป็น มานาศวารี หรือองค์เทวีคุ้มครองของราชวงศ์มัลละเมื่อต้นศตวรรษที่ 14 โดยเชื่อว่าพระนางจะคุ้มครองและทำให้ราชวงศ์จะเจริญรุ่งเรืองตลอดไป โดยจะมีการส่งต่อและสืบทอดความศรัทธาเมื่อกษัตริย์องค์ก่อนใกล้สิ้นพระชนม์ วัดตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงเหนือของลานมูลโชค ซึ่งลานหลักของพระราชวัง เป็นอาคารหลังคาแปดเหลี่ยมสามชั้น มียอดแหลมทรงศิขระปิดทอง และรูปเคารพขององค์เทวีตเลชุภาวนีจะถูกย้ายออกไปประดิษฐานชั่วคราวที่วิหารจำลองทางทิศใต้ของลานมูลโชคในช่วงเทศกาลฑเซน ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคมชองทุกปี

ลานภายในพระราชวังหลวงปาฏัน Patan Durbar Palace’s courtyards

มีสามแห่งประกอบไปด้วย ลานมูล โชค ลานสุนทรี โชค และลานเกศวะ นารายัน โชค ซึ่งนอกจากลานทั้งสามแห่งแล้ว ภายในบริเวณพระราชวังยังมีวัด ศาลเทพสถิต และสถานที่ทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่น่าประทับใจ ซึ่งล้วนมีชื่อเสียงด้านงานแกะสลักอันวิจิตรงดงาม รวมถึงงานสถาปัตยกรรมแบบนีวะรีโบราณที่สวยงามด้วยเช่นกัน

ลานมูล โชค the courtyard of Mul Chowk

เป็นลานที่ใหญ่ที่สุด มีชื่อเสียงมากที่สุด และเป็นลานหลักในบรรดาลานทั้งสามแห่ง เป็นที่ตั้งของวัดตเลชุ วัดวิทยะ ศาลองค์เทวีตเลชุ ซึ่งทางทิศใต้ของลาน และมีรูปปั้นพระแม่คงคาประดิษฐานบนหลังเต่า และพระแม่ยมุนบนตัวมกร (จระเข้ในตำนานศาสนา)

ลานสุนทรี โชค the courtyard of Sundari Chowk

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของลานมูล โชค ลานมีขนาดเล็กว่าลานมูล โชค ที่ถูกออกแบบมีลักษณะเป็นสระสรงน้ำรูปโยนี มีชื่อเรียกว่า “ตุชะ ฮิติ Tusha Hiti” เพื่อใช้ในราชสกุลมัลละของเนปาล สร้างในสมัยกษัตริย์สิทธิ นารสิงห์ มัลละ ในศตวรรษที่ 17 ผนังสระมีภาพสลัก อัษฎะมาตฤกา (พระแม่เทวีทั้งเจ็ด) พระไภรวะ (องค์ศิวะเทพปางดุร้าย) ทั้งแปด และเหล่าพยานาค ขณะที่พวยเติมน้ำทองแดงปิดทองเป็นรูปเคารพของพระวิษณุและพระแม่ลักษมีประทับบนครุฑ ซึ่งสามารถผ่านเยี่ยมชมได้ทางเข้าหลักจากด้านหน้าอาคารด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีหินสลักรูปหนุมาน พระพิฆเนศ และนรสิงห์ ซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุในร่างชายหัวสิงโต
บริเวณดังกล่าวมีร้านค้าท้องถิ่นมากมาย รวมถึงร้านอาหารนีวะรี อย่าง โยมารี Yomari ซึ่งเป็นเกี้ยวนึ่งทรงสามเหลี่ยมที่ทำจากข้าวเจ้ามีใส้หวาน กชิล่า Kachilaa ซึ่งเป็นเนื้อสับดิบผสมเครื่องเทศต่างๆ แล้วราดด้วยน้ำมันร้อนและคนให้เข้ากัน โชอิล่า Choila เดิมเป็นเนื้อควายย่างกินกับข้าวเม่า มีรสค่อนข้างเผ็ด แต่ปัจจุบันมีการใช้เนื้อแกะ ไก่ เป็น และเห็ดแทน ถั่วดำ ข้าวตี และผัก พร้อมกับ ชียาง Chhyang ซึ่งเป็นเบียร์ทิเบตที่ทำจากข้าว และในยามค่ำคืนลานแห่งนี้ก็เป็นแหล่งท่องราตรีของนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

ลานเกศวะ นารายัน โชค the courtyard of Keshav Narayan Chowk

เป็นลานที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ปาฏัน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของลานมูล โชค โดยมีวัดเกศวะ นารายัน เป็นแลนด์มาร์ค และใช้เป็นชื่อเรียกของลานแห่งนี้ด้วย

พิพิธภัณฑ์ปาฏัน Patan Museum

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้มรดกโลกของยูเนสโก เปิดทำการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 โดยกษัตริย์พิเรน ทรา พีระ พิกราม ชาห์ ที่ล่วงลับไปแล้ว อาคารเคยเป็นที่ประทับของอดีตกษัตริย์มัลละ ซึ่งพระราชวังถูกสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1734 บนพื้นที่ของวัดพุทธ ภายใยจัดแสดงงานศิลปะอันศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดูและพุทธ และวัตถุโบราณมากกว่า 1,100 ชิ้น และประมาณ 200 ชิ้นที่จัดแสดงถาวร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปเคารพทองสำริดหล่อของศาสนาฮินดูและพุทธ งานทองแดงปิดทอง และงานฝีมือของชาวปาฏันที่มีชื่อเสียง

Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า