ทัวร์เนปาล : พระราชวังหนุมานโฑก้า Hanuman Dhoka Palace

ทัวร์เนปาล

ทัวร์เนปาล : พระราชวังหนุมานโฑก้า Hanuman Dhoka Palace

ทัวร์เนปาล : พระราชวังหนุมานโฑก้า Hanuman Dhoka Palace

หรือ หนุมาน โดก้า เดอร์บาร์ ในภาษาเนปาลี มีความหมายว่า พระราชวังประตูหนุมาน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของจัตุรัสเดอร์บาร์ เป็นประตูทางเข้าสู่พระราชวังหลวงของกษัตริย์มัลละและกูรข่า ซึ่งเป็นที่ประทับของราชวงศ์เนปาลจนถึงศตวรรษที่ 19 เป็นจัตุรัสหลวงใจกลางกรุงกาฐมัณฑุ โดยด้านหน้าทางเข้าพระราชวังหลวงมีหินสลักรูปหนุมาน ซึ่งถือเป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1672 โดยหนุมานห่มคลุมด้วยผ้าสีแดงและมีร่มคลุม ใบหน้าหนุมานทาด้วยแป้งสีแดง ด้านซ้ายเป็นรูปสลักหินที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1673 เป็นรูปเทพนรสิงห์ องค์อวตารของพระวิษณุ ซึ่งเป็นรูปครึ่งคนครึ่งสิงห์ ที่กำลังสังหารอสูรหิรัญยกัสสปะ ในอดีตชาติเห็นเป็นนายทวารบาลของพระวิษณะมาก่อนที่จะถูกสาปให้เป็นอสูรและต้องเป็นศัตรูกับพระองค์ให้ครบสามชาติ แล้วจึงกลับมาเป็นนายทวารบาลของพระวิษณุตามเดิม
ลานสำคัญของพระราชวังหนุมานโฑก้า

ลานนาซัล Nasal Chowk
หรือ นาซัล โชค มีความหมายว่า ลานเต้นรำ สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มัลละปกครอง ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าหลักติดกับวัดหนุมาน ชื่อลานตั้งตามภาพการร่ายรำขององค์ศิวมหาเทพ หรือ ศิวนาฏราช ที่กำลังร่ายรำอยู่ทางฝั่งตะวันออกของจัตุรัส และเป็นลานที่กษัตริย์พิเรนทราได้รับการสวมมงกุฎขึ้นครองรายในปี ค.ศ. 1975 บนปรัมพิธีกลางลาน ซึ่งด้านทิศใต้ของลาน มีหอคอยพสันตปูร์ สูง 9 ชั้นตั้งตระหง่านอยู่ อาคารรอบๆ ลานมีงานแกะสลักมากมายบนประตู หน้าต่าง และเสา ซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของกษัตริย์ราชวงศ์รานา ซึ่งอยู่ในวรรณะเชตรี ที่ปกครองระหว่างปี ค.ศ. 1846-1951 หลังการปกครองของราชวงศ์ชาห์แห่งกูรข่า ลานนาซัลมีรูปเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีทางเข้าจากมุมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยใกล้ๆ ทางเข้าไปสู่ที่ประทับส่วนพระองค์ของกษัตริย์มัลละ เป็นประตูมีรูปเคารพของเทพเจ้าสี่องค์ที่แกะสลักอย่างสวยงามประณีต และมีรูปเคารพของพระวิษณุสีทองประดิษฐานอยู่ที่เฉลียงเปิดบนกำแพงด้านตะวันออก เนื่องจากวัดมหาวิษณุซึ่งสถานที่ประดิษฐานเดิมรูปเคารพได้พังทลายลงในปี ค.ศ. 1934 และยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในลานนาซัล เช่น ห้องเข้าเฝ้าของกษัตริย์มัลละ ซึ่งตั้งอยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือของลาน

ลานมูล Mul Chowk
หรือ มูล โชค สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทวีตาเลชู ภาวนี องค์อุปถัมภ์ของราชตระกูลมัลละ เป็นลานหน้าวัดตเลชูที่มีรูปสถาปัตยกรมมแบบหลังคาสามชั้น สร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์ศิวะ ซิงห์ มัลละ ที่สร้างถวายองค์เทวีตเลชู โดยทางเข้าเป็นมีซุ้มโตรณะ (ซุ้มทรงมาลัย) สีทอง ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของลาน ทางเข้าขนาบข้างด้วยรูปเคารพของพระแม่คงคาและพระแม่ยมุนา ซึ่งองค์เทวีเตลาชูจะย้ายไปยังวัดเตลาชูในช่วงเทศกาลฑเซน เทศกาลใหญ่ของชาวฮินดูในเนปาลและโลกฮินดู

ลานโมฮันกาลี Mohankali Chowk
หรือ โมฮันกาลี โชค เป็นสถานที่ตั้งของพระตำหนักที่ประทับของกษัตริย์มัลละ โดยกฎมณเทียรบาลกำหนดว่า “ห้ามผู้ใดเข้าไปในส่วนท้ายสุดของพระราชวังได้ ยกเว้นกษัตริย์จะมีพระบรมราชานุญาตเท่านั้น เช่น พระราชอะคันตุกะที่เป็นกษัตริย์จากรัฐอื่นๆ มาเยือน หรืออาจใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ดื้อรั้นจะถูกนำมาคุมขังที่นี่ เมื่อพวกเขาคุกคามราชบัลลังก์อย่างสงบ และเป็นสถานที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะเป็นรัชทายาทองค์ถัดไปของราชวงศ์จำเป็นต้องมาประสูติที่นี่ เช่น กรณีกษัตริย์ชัย ประกาศ มัลละ ผู้ปกครององค์สุดท้ายของราชวงศ์มัลละที่สูญเสียอาณาจักรให้แก่กษัตริย์กูรข่า เนื่องพระองค์ไม่ได้ประสูติที่ลานแห่งนี้ โดยขาดการยอมรับจากเหล่าเชื้อพระองค์ต่างๆ แม้พระองค์จะเป็นรัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎมณเทียรบาลก็ตาม โมฮันกาลี สร้างโดยกษัตริย์ประตาป มัลละ ในปี ค.ศ. 1649

ลานโมฮันกาลี เป็นลานที่งดงามที่สุดในหนุมานโฑก้า เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นงดงาม โดยเฉพาะน้ำพุสีทองที่ตั้งอยู่กลางลาน ฝังลึกลงไปจากผิวดินสิบสองฟุต เป็นน้ำเย็นที่นำมาจากเขานิลกัณฑ์มายังบ่อน้ำพุสำหรับกษัตริย์ประตาป ซิงห์ มัลละ ทรงใช้สรงน้ำ โดยท่อส่งน้ำมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร โดยมีประติมากรรมสีทองรูปนกและสัตว์ร้ายต่างๆ ที่กำลังเกลือกกลิ้ง วิ่งเข้าหาน้ำที่ออกจากพวยและมีเสียงดังกึกก้อง นอกจากนี้บ่อน้ำพุนี้ยังเป็นตัวแทนของพระนางภาคิรถ ซึ่งเป็นอีกพระนามหนึ่งของเจ้าแม่คงคา ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์โตของพระหิมวัต หรือพระหิมาลัย ราชาแห่งภูเขา และผนังของบ่อน้ำพุยังมีภาพสลักของเหล่าเทพและเทวีสามสิบองค์ ที่กษัตริย์ประตาป ซิงห์ มัลละ ทรงเลื่อมใสศรัทธามาก

อาคารบริเวณ โมฮันกาลี โชค ถูกสร้างขึ้นในรูปสถาปัตยกรรมแบบโชควัธ โดยตั้งอยู่ที่มุมของลานฝั่งตะวันออกเป็นอาคารสามชั้นที่มีหอสูง มีหน้าต่างรับแดดที่สวยงาม เฉลียงของชั้นล่างมีภาพที่เล่าเรื่องชีวิตของพระกฤษณะที่เต็มไปด้วยศิลปะ ผ่านผลงานของช่างไม้ที่มีความชำนาญ และฝั่งตะวันตกเป็นอาคารไม่มีเฉลียงแค่มีเสาหินขนาดเท่าคนจริงขององค์เจ้าแม่ทั้งเจ็ด ที่เรียกว่า อัษฏะมาตฤกา Astamatrika ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า โมฮันกาลี ซึ่งเป็นชื่อของลานแห่งนี้

ระเบียงพระราชวังที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของลานโมฮานกาลี จะได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงามมาก เมื่อกษัตริย์เสด็จสวรรคตและถูกนำไปวางไว้ที่พระแท่นในปะรำพิธีที่มีเรือนยอดสีทองประดับด้วยรูปขององค์เทพและเทวีที่พระองค์ศรัทธา เพื่อระลึกถึงความองค์อุปถัมภ์ตลอดการครองราชย์ ขณะที่ผนังพระราชวังดังกล่าวจะมีจารึกยาวของกษัตริย์ประตาป ซิงห์ มัลละ เกี่ยวกับวิธีการบูชาเหล่าองค์เทพและเทวีที่พระองค์ศรัทธา จารึกเป็นภาพสองแถว โดยแถวแรกแสดงการอวตารทั้งสิบปากของพระวิษณุ และชีวิตของพระกฤษณะซึ่งเป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างลึกลับ นอกจากภาพทางศาสนาที่ปรากฏอยู่ในลานทั้งหมดแล้ว ยังมีภาพแสดงถึงวิถีชีวิตปกติของผู้คน ซึ่งนอกจากจะมีภาพบุคคลบางภาพที่มีลักษณะคล้ายกษัตริย์ประตาป ซิงห์ มัลละ ยังมีภาพของผู้คนที่แต่งกายในแบบตะวันตก ซึ่งในยุคของพระองค์ไม่น่ามีความเชื่อมโยงใดๆ กับอารยธรรมตะวันตกเลย
บริเวณหน้าพระราชวังหนุมานโฑก้า แห่งนี้ถูกใช้ให้เป็นสถานที่จัดพิธีสำคัญ เช่น พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์เนปาล ซึ่งพระราชวังได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างที่ทำจากบานไม้แกะสลักอย่างประณีต มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ของกษัตริย์ตริภูวันและพิพิธภัณฑ์มเหนรา ซึ่งสามารถเข้าชมห้องรับรองภายในพระราชวังได้ น่าเสียดาย อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆรอบหนุมาน โดก้า ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเผ่นดินไหวเมื่อ 25 เมษายน 2015

พระราชวังได้รับการดูแลผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่หลังได้รับความเสียหายทั้งจากความละเลยและภัยธรรมชาติ วัดวาต่างๆ ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติ และพระราชวังกำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่มีเพียงไม่กี่ส่วนเท่านั้นที่เปิดให้เข้าชม และวัดทาเลจูก็อนุญาตให้เฉพาะนักท่องเที่ยวที่นับถือศาสนาฮินดูและพุทธเข้าไปเท่านั้น
ปีกด้านตะวันออกของประตูหนุมาน เป็นที่ตั้งของลานเก่าแก่ที่สุด 10 แห่ง เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 และมีการขยายลานเพิ่มขึ้นในสมัยกษัตริย์ประตาป มัลละ และในศตวรรษที่ 17 ก็มีการก่อสร้างวัดมากมายที่ลานแห่งนี้ เนื่องจากลานสุนทรี โชคและลานโมฮัน โชคถูกงดใช้ห้ามไม่ให้มีกิจกรรมใดๆ
ในปี ค.ศ. 1768 ส่วนของพระราชวังทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในสมัยของกษัตริย์พริธวี นารายัน ชาห์ ได้สร้างหอสังเกตการณ์เพิ่มเติมสี่จุด ซึ่งคนในราชวงศ์และข้าราชบริพารก็อยู่ในพระราชวังแห่งนี้ จนถึงปี ค.ศ. 1886 ที่ประทับและศูนย์กลางการปกครองราชวงศ์ชาห์แห่งเนปาลได้ย้ายไปอยู่ที่พระราชวังนารายันติ ซึ่งอยู่ติดกับย่านทาเมลแทน

Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า